รีเซต

โลกแตะจุดเดือด นักวิทย์ฯชี้ เราไม่เหลือเวลาแล้ว

โลกแตะจุดเดือด นักวิทย์ฯชี้ เราไม่เหลือเวลาแล้ว
TNN ช่อง16
10 เมษายน 2568 ( 09:59 )
12

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยรายงานสภาพภูมิอากาศโลกประจำปีล่าสุด ระบุว่า ทศวรรษที่ผ่านมา (2015–2024) เป็นช่วงเวลาที่โลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์การบันทึกข้อมูลกว่า 175 ปี ขณะที่ปี 2024 กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุด แซงหน้าสถิติเดิมในปี 2023

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ข้อมูลล่าสุดนี้ควรเป็น “เสียงปลุกครั้งใหญ่” ให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง แต่ก็ยอมรับว่าการตอบสนองของผู้นำโลกยังไม่เพียงพอ

รายงานระบุว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 800,000 ปี ส่งผลให้ปี 2024 มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (1850–1900) เป็นครั้งแรก แม้ยังไม่ถือว่าโลกเข้าสู่ภาวะเกินขีดจำกัดตามข้อตกลงปารีส แต่ก็ “ใกล้มากแล้ว”

นอกจากนี้ สภาวะเอลนีโญก็ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ยิ่งส่งเสริมให้ร้อนขึ้นอีก เนื่องจากมหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินถึง 90% ระดับอุณหภูมิน้ำทะเลจึงพุ่งสูงทุกปีในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง พายุเขตร้อนทวีความรุนแรง และน้ำแข็งทะเลละลายเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจากดาวเทียมเผยว่า ระหว่างปี 1993–2002 ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.1 มม./ปี แต่ในช่วงปี 2015–2024 เพิ่มขึ้นถึง 4.7 มม./ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนชายฝั่ง ทั้งน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำเค็มรุกล้ำแหล่งน้ำจืด และยังพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา (2021–2023) เป็นช่วงที่ธารน้ำแข็งทั่วโลกลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในนอร์เวย์ สวีเดน เขตสฟาลบาร์ และเทือกเขาแอนดีสเขตร้อน

ส่วนภัยธรรมชาติ เช่น พายุไซโคลน อุทกภัย และภัยแล้งในปี 2024 ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 โดยในปี 2024 เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในหลายประเทศ รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่อุณหภูมิแตะ 50°C ขณะมีพิธีฮัจญ์ และใน 8 ประเทศทั่วโลก ยังมีผู้เผชิญภาวะขาดแคลนอาหารขั้นวิกฤตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างน้อย 1 ล้านคน สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศสุดขั้วที่กระทบต่อการผลิตและกระจายอาหาร

ด้านเลขาธิการ WMO เซเลสเต้ เซาโล ย้ำว่า "ปัจจุบันมีเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วโลกที่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าอย่างเพียงพอ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน"

ศาสตราจารย์ซาราห์ เพอร์กินส์-เคิร์กแพทริก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า "เราต้องเลิกกดปุ่มเลื่อนปลุกซ้ำ ๆ ต่อวิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นตรงหน้า" พร้อมเสริมว่า “หากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ตอนนี้จะยิ่งสายเกินไป” ขณะที่ ดร.ลินเดน แอชครอฟต์ นักวิชาการด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เสริมว่า “เราพูดเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กลับไม่มีใครฟัง บางทีอาจต้องขึ้นไปตะโกนบนดาดฟ้า หรือเต้นลง TikTok ถึงจะมีคนสนใจ”

เธอสรุปว่า “หากไม่มีผู้นำจากรัฐบาลและภาคธุรกิจลุกขึ้นมารับผิดชอบอย่างจริงจัง ฉันคงต้องนำคำเตือนเดิมนี้กลับมาใช้ใหม่อีกในปีหน้า”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง