รีเซต

พิจารณาต่อ!สภาประชุมพิจารณา พรก.กู้เงินต่อเนื่องเป็นวันที่ 3

พิจารณาต่อ!สภาประชุมพิจารณา พรก.กู้เงินต่อเนื่องเป็นวันที่ 3
TNN ช่อง16
29 พฤษภาคม 2563 ( 09:17 )
189

 

วันนี้ ( 29 พ.ค.63)  การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด สำคัญ 4 ฉบับ ที่รัฐบาลเสนอเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19  ภายใต้งบประมาณที่กันไว้ร่วม 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งได้เข้าสู่การพิจารณาเป็นวันที่ 3 จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. 

 

โดย คณะรัฐมนตรีได้เสนอจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่1 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ฉบับที่2 พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563 ฉบับที่3 พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ ฉบับที่ 4 พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563

 

ทั้งนี้ ภาพรวมตลอด 2 วันที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้าน ยังคงอภิปรายแสดงความกังวลต่อการออกพระราชกำหนดกู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ ที่ยังไม่มีการระบุชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงินกู้  และการนำเงินไปใช้ช่วยเหลือ SME และสร้างเสถียรภาพระบบการเงินก็ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งยังเห็นว่า การออกพระราชกำหนดนี้ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชนและวิเคราะห์ถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 วรรค 2 จึงมีข้อสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลบางกลุ่มหรือไม่ 

 

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้านบาทนั้น เป็นจำนวนที่น้อยเกินไป จึงควรเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับงานด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกัน ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะคงไว้ โดยเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมาย และควรบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน

 

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าการพิจารณาใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นไปอย่างรอบคอบ ส่วนการกู้เงินจำนวนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษา เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้แล้ว

 

สำหรับ การประชุมสภาฯ จะมีการพิจารณา 5 วันจนถึงวันที่ 31 พ.ค. กำหนดเวลาจะเริ่มตั้งแต่ 09.30-20.00 น.ของในแต่ละวัน กรอบเวลาการอภิปรายของแต่ละฝ่ายนั้นฝ่ายรัฐบาลรวมได้ 24 ชั่วโมง  แบ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและครม.ฝ่ายละ 12 ชม. ฝ่ายค้าน 24 ชั่วโมง  หากฝ่ายใดประท้วงจะหักเวลาของฝ่ายนั้นไป ทั้งนี้ วันที่ 31 พ.ค. เวลาประมาณ 15.00 น. จะลงมติพระราชกำหนด 3 ฉบับแรก และพิจารณาพระราชกำหนดฉบับสุดท้ายให้เสร็จก่อนเวลา 20.00 น.ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เช็กสถานะ กลุ่มเปราะบาง เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาหรือไม่

- สรรพสามิต ปัดตก ไม่ลดภาษีรถยนต์ใหม่ 50% ลั่นไม่แทรกแซงตลาด

- สภาพัฒน์คาดคนไทยเสี่ยงตกงาน8.4ล้านคน จากวิกฤตโควิด-19

 

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง