สหรัฐฯ เตรียมทดสอบอาวุธ Hypersonic ความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ในปี 2024
หน่วยงานด้านนวัตกรรมกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (DIU) กำลังดำเนินการวิจัยพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic) ชื่อว่า ดาร์ท เออี (Dart AE) โดยได้ร่วมมือกับบริษัท ไฮเปอร์โซนิกส์ ลอนช์ ซิสเท็มส์ (Hypersonix Launch Systems) ประเทศออสเตรเลีย เตรียมการทดสอบอาวุธรุ่นใหม่นี้ในช่วงฤดูร้อนปี 2024
ต้นแบบอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic) ดาร์ท เออี (Dart AE) มีความยาว 3 เมตร น้ำหนัก 300 กิโลกรัม ใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนแบบสแครมเจ็ต (Scramjet) ตามรายงานของเว็บไซต์บริษัท เปิดเผยว่ามันสามารถทำความเร็วได้ 7 มัค หรือ 8,575 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผ่านมาตรฐานความเร็วขั้นต่อของอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกที่จะต้องมีความเร็วมากกว่า 5 มัค หรือ 6,125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รูปแบบการทำงานของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนแบบสแครมเจ็ต (Scramjet) ใช้หลักการไหลผ่านของอากาศที่มีความเร็ว 3 มัค หรือ 3,675 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อเพิ่มความดันในห้องเผาไม้เชื้อเพลิงก่อนปล่อยพลังงานเจ็ทออกด้านหลัง การทำความเร็วการไหลผ่านของอากาศให้ได้ถึง 3 มัค จึงต้องมีจรวดบูสเตอร์ที่เป็นรูปแบบอื่น เช่น จรวดเชื้อเพลิงเหลวเป็นตัวช่วยขับดันในระยะแรก ก่อนเปลี่ยนเป็นใช้งานเครื่องยนต์ขับเคลื่อนแบบสแครมเจ็ต
การพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกของรัสเซียและจีนที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเร่งพัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยีดังกล่าวของตัวเอง โดยมีหน่วยงานด้านนวัตกรรมกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (DIU) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการทดสอบอาวุธสมรรถนะสูง (HyCAT) ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาอาวุธที่ใช้งานซ้ำและมีต้นทุนต่ำ
นอกจากบริษัท ไฮเปอร์โซนิกส์ ลอนช์ ซิสเท็มส์ (Hypersonix Launch Systems) ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวยังมีบริษัท ฟายเน็กซ์ สเปซ (Finex Space) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศโดยใช้ต้นทุนต่ำ และบริษัท ร็อคเก็ต แลป (Rocket Lab) บริษัทผู้ให้บริการขนส่งอวกาศตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เข้าร่วมโครงการด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง ตัวอย่างอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่ได้รับการทดสอบประสบความสำเร็จ เช่น
1. อาวุธไฮเปอร์โซนิก AGM-183A ARRW ใช้วิธีการปล่อยตัวจากเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่และสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 5 มัค หรือ 6,125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทดสอบ AGM-183A ARRW สำเร็จในปี 2020
2. อาวุธไฮเปอร์โซนิก HTDV โดยสำนักวิจัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศขั้นสูง (DARPA) ทดสอบในปี 2020 ความเร็ว 17 มัค หรือ 21,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3. อาวุธไฮเปอร์โซนิก C-HGB พัฒนาโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ทดสอบในปี 2020 ความเร็ว 17 มัค หรือ 21,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ที่มาของข้อมูล Space.com, Wikipedia.org
ที่มาของรูปภาพ U.S. Air Force