รีเซต

ยุโรปตัดสัมพันธ์ด้านอวกาศกับรัสเซีย เนื่องจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ยุโรปตัดสัมพันธ์ด้านอวกาศกับรัสเซีย เนื่องจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2565 ( 14:00 )
90

นอกจากนาซา (NASA) แล้วก็ยังมีองค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (European Space Agency: ESA) ที่ต้องการทำภารกิจด้านอวกาศในการสำรวจดาวอังคารทั้งในรูปแบบการสำรวจด้วยยานอวกาศ และการส่งหุ่นยนต์สำรวจภาคพื้นดิน (Rover) โดยเลือกจับมือกับรอสคอสมอส (Roscosmos) องค์การด้านอวกาศของประเทศรัสเซีย แต่ล่าสุดองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ตัดสินใจยุติบทบาทร่วมกับรอสคอสมอส (Roscosmos)  


เอ็กโซมาร์ส (ExoMars) เป็นโครงการขององค์การอวกาศยุโรปที่ร่างแผนตั้งแต่ปี 2001 หรือมากกว่า 20 ปีก่อน ในการส่งยานสำรวจไปยังพื้นผิวดาวอังคาร และขยับเป้าหมายเป็นการเก็บชิ้นส่วนตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมา ซึ่งในภารกิจต่อเนื่องภายใต้โครงการเอ็กโซมาร์ส (ExoMars) ส่วนใหญ่จะเลือกใช้บริการขนส่งจากยานโซยุส (Soyuz) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรอสคอสมอส (Roscosmos) ของรัสเซีย รวมถึงยังใช้ชิ้นส่วนของหุ่นยนต์สำรวจ (Rover) จากรัสเซียเป็นหลักอีกด้วย โดยมีโครงการที่สำเร็จไปแล้วคือ ยานติดตามร่องรอยก๊าซบนดาวอังคาร หรือ เทรซ แก๊ส ออบิตเตอร์ (Trace Gas Orbiter: TGO) 


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลโดยตรงต่อท่าทีการเมืองระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้ความร่วมมือตั้งแต่ระบบขนส่งก๊าซ น้ำมัน วัตถุดิบต่าง ๆ ระหว่างรัสเซียกับยุโรปประสบปัญหา รวมไปถึงโครงการด้านอวกาศ โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ทางองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ประกาศยับยั้งความร่วมมือกับรอสคอสมอส (Roscosmos) อย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าท่าทีนี้เป็นการเปิดทางกลับมาร่วมมืออีกครั้งในอนาคตหลังผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้


เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าทางสภาร่วมของสมาชิกในองค์การอวกาศยุโรป (ESA) พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์การสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงง่าย ๆ ทางสภาจึงมีมติประกาศตัดความสัมพันธ์กับรอสคอสมอส (Roscosmos) อย่างเป็นทางการและการตัดสินใจในครั้งนี้ส่งผลโดยตรงต่อโครงการโรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) หุ่นยนต์สำรวจ (Rover) โดยเฉพาะส่วนเครื่องยนต์และการเลื่อนการปล่อยตัวจรวดที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ปี ก่อนหน้านี้ และการเลื่อนการปล่อยจรวดครั้งล่าสุดในช่วงต้นปี 2022 โดยในวันที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อแถลงนโยบาย รวมถึงเป้าหมายใหม่ในการหาพันธมิตรรายใหม่แทนรอสคอสมอส (Roscosmos) องค์การด้านอวกาศของประเทศรัสเซีย


ในส่วนของรัสเซียนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่โครงการด้านอวกาศโดนตัดความสัมพันธ์ เพราะก่อนหน้านี้เครื่องยนต์จรวดของรัสเซียซึ่งขายดีในกลุ่มบริษัทอวกาศในสหรัฐฯ ก็ถูกสั่งห้ามซื้อ และบริษัทเอเรียนสเปซ (Arianespace) จากฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในลูกค้าประจำของจรวดโซยูส (Soyuz) สำหรับส่งวัตถุไปยังอวกาศก็ยุติการใช้บริการถาวรเช่นกัน



ที่มาข้อมูล Space

ที่มารูปภาพ ESA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง