สธ.เปิดตัวเลข "แพทย์ลาออก" เร่งเพิ่มสวัสดิการ-ลดภาระงาน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นที่แพทย์จบใหม่จำนวนมากแห่ลาออก เพราะงานหนักเกินไป โดยชี้แจงว่าภาพรวมของบุคลากรที่เข้าระบบต่อปีประมาณ 2,000 คน ที่ลาออกส่วนนึงคือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เมื่อจบแล้วบางคนอยากไปเรียนต่อสามารถเกิดได้เป็นปกติปีละประมาณร้อยละ 10 ก่อนที่กลุ่มนี้จะกลับเข้าระบบมาใหม่ ซึ่งตัวเลขยังถือว่าเป็นบวก ดังนั้นจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนยังมีอยู่ แต่ไม่ถึงกับกดดันมากนัก และอาจมีบางจุดที่เป็นปัญหา
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาขาดแคลนบุคลากรส่วนหนึ่งเพราะความต้องการรับบริการของประชาชนมีสูง โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 ที่ระบสาธารณสุขพยายามจะยกระดับทำงานแต่กลับมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติบุคลากรหลังสถานการณ์โควิด 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันเรื่องบุคลากรลดลงแต่ยังไม่หมดไป เนื่องจากความต้องการรับบริการของประชาชนมีมาก
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เหมาจ่ายรายหัว ซึ่งกระทรวงหวังว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ให้เท่ากับที่ต้องบริการประชาชน ส่วนปัญหาเรื่องงบประมาณ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บุคลากรลาออก แต่ปัจจัยทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของกระทรวง และกระทรวงพยายามใช้ทรัพยากร ทั้งคนและเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด มาบริการประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อไม่ให้เดือดร้อน
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา นพ.โอภาส กล่าวว่าต้องใช้มาตรการหลายส่วน เช่นค่าตอบแทนที่ที่ต้องเปรียบเทียบกับภาคเอกชนต้องดึงดูดใจ โดยเพิ่มค่าตอบแทน และ โอทีเข้าไป นอกจากนี้ยังรวมถึงสวัสดิการ และ ความก้าวหน้าทางวิชาชีพด้วย
นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลการลาออกของแพทย์โดยในปี 2556 -2561 หรือ 10 ปีย้อนหลัง มีแพทย์บรรจุ จำนวน 19,035 คน ขณะที่แพทย์ลาออกแบ่งเป็น แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก อยู่ที่ 226 คน เฉลี่ยปีละ 23 คน , แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 187 คนคิดเป็นร้อยละ 9.69 เฉลี่ยปีละ 188 คน ,แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คนร้อยละ 4.4 เฉลี่ยปีละ 86 คน
แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน 1,578 คน ร้อยละ 8.1 เฉลี่ยปีละ 158 คน ทำให้ภาพรวมเฉลี่ยการลาออกของแพทย์ปีละ 455 คนรวมถึงเกษียณอายุราชการปีละ 150-200 คนรวมประมาณปีละ 655 คน
สำหรับปัจจัยการลาออก เช่น แพทย์รายนั้นทำงานครบระยะการใช้ทุนจึงลาออกไปทำที่อื่น หรือ ด้วยเหตุผลส่วนตัว โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการผลิตแพทย์ โดยเป็นการปรับกรอบอัตรากำลังในปี 2565-2570 ตั้งเป้า ผลิตแพทย์ให้ได้ 35,000 คน ในปี 2570 ซึ่งจะเพิ่มจากเดิมมาประมาณ 10,000 คน
ทั้งนี้ ตามระบบการเรียนแพทย์ จะใช้ระยะเวลาเรียนจบ 6 ปี แต่ทางแพทยสภาได้มีการกำหนดให้แพทย์ได้เพิ่มพูนทักษะเฉพาะอีก 1 ปี โดยมีโรงพยาบาลทั้งหมด 117 แห่ง รวมเรียน 7ปี / จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลแพทย์กลุ่มนี้ เมื่อเรียนครบ 1 ปีแพทย์ก็สามารถที่จะไปเรียนต่อเฉพาะทางโดยใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ปี รวมเป็นทั้งหมด 10 ปี
ภาพจาก AFP