รีเซต

'วีรบุรุษค่ายนรกคนสุดท้าย...เสียชีวิตแล้ว' ทำความรู้จัก เดวิด ดัชแมน ทหารกล้าผู้ทลายค่ายนาซี ปลดปล่อยชาวยิวนับล้าน

'วีรบุรุษค่ายนรกคนสุดท้าย...เสียชีวิตแล้ว' ทำความรู้จัก เดวิด ดัชแมน ทหารกล้าผู้ทลายค่ายนาซี ปลดปล่อยชาวยิวนับล้าน
TNN World
10 มิถุนายน 2564 ( 17:45 )
281
'วีรบุรุษค่ายนรกคนสุดท้าย...เสียชีวิตแล้ว' ทำความรู้จัก เดวิด ดัชแมน ทหารกล้าผู้ทลายค่ายนาซี ปลดปล่อยชาวยิวนับล้าน

 

ข่าววันนี้ ชีวิตสุดท้ายที่ปลิดปลิว...เหลือแค่เรื่องเล่าขานของ “นรกบนดิน”

 

วีรบุรุษผู้ปลดปล่อยชาวยิว


เดวิด ดัชแมน (David Dushman) ทหารโซเวียตคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต ซึ่งเคยเข้าร่วมในการปลดปล่อยค่ายกักกันและค่ายมรณะของนาซี ที่เมืองเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ประเทศโปแลนด์ เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 98 ปี 
ดัชแมน เป็นทหารผ่านศึกชาวยิวแห่งกองทัพแดง (Red Army) ซึ่งต่อมาได้เป็นนักกีฬาฟันดาบในโอลิมปิกด้วย
ชุมชนชาวยิวในเมืองมิวนิคและอัปเปอร์ บาวาเรีย (Upper Bavaria) หนึ่งในเจ็ดส่วนภูมิภาคของรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ดัชแมนถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนีเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 

 


ย้อนกลับไป เมื่อครั้งเป็นทหารหนุ่มวัย 21 ปี เขาใช้รถถังที-34 ของเขา ทำลายรั้วไฟฟ้าของค่ายนรกนาซี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 1945 ช่วยปลดปล่อยนักโทษในค่าย ผู้คนประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิว ถูกนำตัวมาจากทั่วยุโรป และถูกนาซีสังหารโหดที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ระหว่างปี 1940-1945 


“เมื่อเรามาถึง เราก็เห็นรั้วไฟฟ้า และผู้คนที่โชคร้ายเหล่านี้ เราจึงทำลายรั้วด้วยรถถังของเรา เราให้อาหารนักโทษและเดินหน้าภารกิจต่อไป” ดัชแมน กล่าวกับ Reuters เมื่อปีที่แล้ว 


“พวกเขายืนอยู่ตรงนั้น ทุกคนอยู่ในชุดนักโทษ สายตาของพวกเขาหรี่แคบ ซึ่งน่ากลัวเอามาก ๆ”


ดัชแมน กล่าวว่า เขาไม่ทราบว่า มีค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ระหว่างสงคราม มีเพียงการเรียนรู้เกี่ยวกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นที่นั่นในหลายปีหลังจากนั้น  

 

 

ผู้ร่วมศึกนองเลือด ‘ยุทธการสตาลินกราด’

 

ดัชแมนเข้าร่วมประจัญบานทางทหารที่นองเลือดที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง ใน 2 สมรภูมิเลือด รวมทั้งการสู้รบในยุทธการสตาลินกราด ว่ากันว่า ยุทธการสตาลินกราด เป็นยุทธการใหญ่ของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนาซีเยอรมนีและพันธมิตรฝ่ายหนึ่ง สู้รบกับสหภาพโซเวียต เพื่อแย่งชิงการควบคุมนครสตาลินกราด ยุทธการนี้ดำเนินไประหว่างวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1942 ถึง 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ถือเป็นยุทธการใหญ่ที่สุดบนแนวรบด้านตะวันออก และได้รับความสนใจ เพราะความป่าเถื่อนและไม่สนใจต่อความสูญเสียทั้งทางทหารและพลเรือน นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในยุทธการนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์การสงคราม มีการประเมินความสูญเสียทั้งสองฝ่ายรวมกันขั้นสูงไว้เกือบสองล้านนาย, ความสูญเสียอย่างหนักที่กองทัพเยอรมนีประสบนับเป็นจุดพลิกผันของสงคราม เพราะหลังยุทธการสตาลินกราด กำลังเยอรมันไม่อาจฟื้นคืนอย่างเมื่อก่อนได้อีก และไม่บรรลุชัยชนะทางยุทธศาสตร์ในทางตะวันออกอีกเลย

 


นักรบจากยุทรการ ‘คูสค์’


อีกหนึ่งสมรภูมิรบที่ดัชแมนเข้าร่วม คือยุทธการที่คูสค์ เกิดขึ้นเมื่อกำลังเยอรมนีและโซเวียตเผชิญหน้ากันในแนวรบด้านตะวันออก บริเวณย่านชานนครคูสค์ (Kursk) ห่างจากกรุงมอสโกไปทางใต้ 450 กิโลเมตร ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ค.ศ. 1943 


ยุทธการที่คูสค์เป็นทั้งชุดของการสงครามยานเกราะที่ใหญ่ที่สุด และการสงครามทางอากาศวันเดียวราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ยุทธการนี้นับเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งสุดท้ายของเยอรมนีที่สามารถดำเนินการได้ในทางตะวันออก 


ทั้ง 2 สมรภูมินี้ กองทัพแดงของโซเวียตชนะเด็ดขาด

 


ผู้รอดชีวิตจากหลายสมรภูมิโหด


ดัชแมนคือ 1 ใน 69 คนจากกำลังพล 12,000 นายในกองทัพของเขา รอดชีวิตมาจากสงครามหฤโหด เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส 


พ่อของเขา ซึ่งเป็นอดีตแพทย์ทหาร ถูกจำคุกและเสียชีวิตในค่ายกักกันของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา หลังจากตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างของโจเซฟ สตาลิน


หลังสงคราม ดัชแมนก้าวมาเป็นนักฟันดาบชื่อดังของสหภาพโซเวียต และในเวลาต่อมา เขาก็ขยับขึ้นไปเป็นโค้ช หรือผู้ฝึกสอนกีฬาฟันดาบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ระดับตำนานของโลกคนหนึ่ง จากการเปิดเผยของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC


เขาฝึกทีมนักกีฬาฟันดาบหญิงของสหภาพโซเวียตมานานถึง 40 ปี และยังเป็นผู้หนึ่งที่เห็นเหตุการณ์กลุ่มก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ 8 คน ก่อเหตุสังหารนักกีฬาชาวอิสราเอลที่มิวนิค โอลิมปิกส์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกในปี 1972 ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิต 11 คน, ก่อการร้ายปาเลสไตน์ 5 คน และตำรวจเยอรมัน 1 นาย 
“เราได้ยินเสียงปืนสนั่นหวั่นไหว และเสียงเฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่เหนือศีรษะ พวกเราพักอยู่ตรงข้ามกับทีมนักกีฬาอิสราเอล เราและนักกีฬาทุกคนตกใจกลัวมาก” เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Abendzeitung ในปี 2018 

 


ทหารโซเวียต-ยิว-และมีเพื่อนชาวเยอรมัน


โทมัส บัค (Thomas Bach) เพื่อนของดัชแมน ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนที่ 9 และยังเป็นอดีตนักกีฬาฟันดาบชาวเยอรมันที่ร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1976 ร่วมไว้อาลัยการเสียชีวิตของเขา 
“เมื่อพวกเราพบกันในปี1970 เขาได้มอบมิตรภาพและให้คำปรึกษากับผม แม้ว่าดัชแมนจะมีประสบการณ์ส่วนตัวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และค่ายมรณะเอาช์วิทซ์ และเขายังเป็นชาวยิวด้วย” บัค ซึ่งเป็นชาวเยอรมันกล่าว 
“นี่เป็นการแสดงอากัปกิริยาที่ลึกซึ้งของมนุษย์ที่ผมจะไม่มีวันลืม”

 


ผู้ฝึกสุดยอดนักฟันดาบหญิงระดับโลก


“แม้ตอนอายุ 94 ปี เขาก็ยังคงไปสมาคมฟันดาบของเขาเกือบทุกวัน เพื่อสอนนักกีฬา” IOC กล่าว 
นักฟันดาบที่ประสบความสำเร็จที่สุดของสหภาพโซเวียต ที่ผ่านการปลุกปั้นของเขา รวมทั้ง วาเลนตินา ซิโดโรวา ผู้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกปี 1956, 1960 และ 1964 ในประเภทบุคคลและประเภททีม, เธอได้รับรางวัลเหรียญทองประเภททีมและเหรียญเงินประเภทบุคคลในปี 1960 และเหรียญเงินประเภททีมในปี 1964
“ทุกคนที่เป็นพยานในประวัติศาสตร์ ซึ่งเสียชีวิต ล้วนคือความสูญเสีย แต่การกล่าวคำสั่งลาต่อเดวิด ดัชแมน เจ็บปวดเป็นพิเศษ” ชาร์ลอตต์ น็อบลอช อดีตประธานสภากลางชาวยิวของเยอรมนี กล่าว 
“ดัชแมนอยู่ในแนวหน้าเมื่อกลไกสังหารของนักสังคมนิยมแห่งชาติถูกทำลาย”

 


สอนลูกหลานถึงความน่ากลัวของสงคราม


ดัชแมนยอมรับว่า เขาและเพื่อนทหาร ไม่ได้รู้เรื่องถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเอาช์วิทซ์เลย เขาย้อนเหตุการณ์ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Sueddeutsche Zeitung ในมิวนิคว่า 


“ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยโครงกระดูก พวกเขาโซซัดโซเซออกจากค่ายทหารแห่งนี้ พวกเขานั่งและนอนอยู่ท่ามกลางคนตาย น่ากลัวมาก พวกเราโยนอาหารกระป๋องทิ้ง และขับรถต่อไปทันที เพื่อตามล่าพวกฟาสซิสต์”  
ชีวิตในช่วงไม้ใกล้ฝั่ง ดัชแมนไปเยี่ยมโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อบอกเล่าให้นักเรียนฟังเกี่ยวกับสงคราม และความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว นอกจากนี้ เขายังปัดฝุ่นเหรียญกล้าหาญของเขาอยู่เป็นประจำเพื่อเข้าร่วมการชุมนุมของทหารผ่านศึก


โซจา ภรรยาของดัชแมน เสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน


จากนี้ไป คงไม่เหลือพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ มาบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่สอง และค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ซึ่งถือเป็นนรกบนดิน ให้ผู้คนบนโลกใบนี้ได้รับทราบอีกต่อไปแล้ว คงเหลือแต่ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านตัวหนังสือเท่านั้น เมื่อ “เดวิด ดัชแมน” ซึ่งเป็นพยานคนสุดท้าย ลาโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับ 

 


บทส่งท้าย...จากผู้เขียน


กว่า 4 ปีครึ่ง กองทัพนาซีเยอรมันเข่นฆ่าผู้คนอย่างเป็นระบบอย่างน้อย 1.1 ล้านคนที่ค่ายมรณะเอาช์วิทซ์ เกือบ 1 ล้านคนเป็นชาวยิว ผู้คนที่ถูกเนรเทศมายังค่ายแห่งนี้ ถูกทรมานด้วยวิธีการหลากหลาย ทั้งรมด้วยแก๊สพิษ, ให้อดอาหาร และทำงานหนักจนตาย และแม้แต่ตายด้วยวิธีการใช้เป็นหนูทดลองยา แต่ผู้ประสบชะตากรรมเกือบทั้งหมดถูกสังหารในห้องรมแก๊สโดยใช้แก๊สซือโคลน เบ ที่ค่ายเอาช์วิทซ์ 2 – เบียร์เคอเนา (Auschwitz II-Birkenau camp)


มีชาวยิวในยุโรป 6 ล้านคนเสียชีวิตในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือฮอโลคอสต์ (Holocaust) เป็นเหตุการณ์ที่มนุษยชาติต้องจดจำร่วมกันชั่วนิรันดร์ มี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ คือผู้ก่อกรรม เป็นอาชญากรเบอร์ 1 ที่ต้องการขุดรากถอนโคนชาวยิวในยุโรปให้สิ้นซาก ค่ายเอาช์วิทซ์ คือศูนย์กลางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ 

 


Holocaust คืออะไร?


เมื่อนาซีขึ้นสู่อำนาจในปี 1933 พวกเขาก็เริ่มยึดทรัพย์สินทั้งหมดของชาวยิว, ริดรอนสิทธิเสรีภาพที่พึงมีภายใต้กฎหมาย หลังเยอรมนีบุกและยึดโปแลนด์ในปี 1939 นาซีก็เริ่มเนรเทศชาวยิวจากไรช์ที่สาม (The Third Reich) ซึ่งก็คือเยอรมนีในช่วงที่ปกครองโดยพรรคนาซีระหว่างปี 1933-1945 ไปยังหลายพื้นที่ของโปแลนด์ ที่ซึ่งพวกเขาได้สร้างเขตเฉพาะเป็นที่อยู่ของชาวยิวเพื่อแยกออกจากประชาชนอื่น ๆ


สุดท้าย ก็เหลือแต่ซากกระดูกกองโตของชีวิตผู้คน ที่เกิดจากความโหดเหี้ยมของคน ๆ เดียว ผู้ก่อกรรมชั่วต่อมวลมนุษยชาติที่โลกรังเกียจ ชื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และสมุนรับใช้ในกองทัพนาซีเยอรมัน

 

เรื่อง : สันติ สร้างนอก
ภาพ : Reuter and Graphic

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง