เสนอ "ผู้ตรวจอิสระ" ตรวจการก่อสร้างในอนาคต - ย้อน 4 เหตุการณ์ในรอบปี
นายกสมาคมวิศวกรฯ เสนอ "ผู้ตรวจอิสระ" ตรวจการก่อสร้างในอนาคต - ย้อน 4 เหตุการณ์สะพานถล่มในรอบปี
กรณีทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดพังถล่มลงมา เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย นำไปสู่การตั้งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้าง
การกำกับตรวจสอบ รวมไปถึงความปลอดภัยของประชาชนนั้น
TNN online สัมภาษณ์ 'ศ.ดร. อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย' ถึงการตรวจสอบเหตุ #สะพานถล่ม ย่านลาดกระบัง รวมถึงข้อเสนอแนะต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ศ.ดร. อมร ระบุว่า การตรวจสอบสาเหตุในเหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องตรวจสอบเบื้องต้นโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องตั้งขึ้นมาจากหลายๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสภาวิศวกร สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ว่าสาเหตุการถล่มในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด
ชี้ประเมิน 3 ลำดับขั้น 'ออกแบบ - คำนวณ - ขั้นตอนการทำงาน' ปม #สะพานถล่ม
นายกสมาคมวิศวกรฯ ระบุว่า สำหรับการประเมินสาเหตุเบื้องต้นในขณะนี้ ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เนื่องจากว่าขณะนี้ดูได้เพียงแค่ภาพถ่าย และวิดีโอ แต่จริง ๆ แล้วนั้นการประเมินให้ถูกต้องจะต้องดูการออกแบบ เพราะอาจจะเริ่มต้นจากการก่อสร้างว่าได้ทำตามแบบก่อสร้างหรือไม่ ส่วนลำดับที่สอง คือมีการคำนวณประกอบระหว่างก่อสร้างหรือไม่
โดยขณะการก่อสร้างควรมีการคำนวณประกอบเป็นระยะๆ ว่าจุดต่างๆ มีแรงเกิดขึ้นเท่าไหร่ และส่วนต่างๆ สามารถรับน้ำหนักได้หรือไม่ และลำดับที่ 3 คือต้องตรวจสอบในเรื่องของขั้นตอนการทำงาน หรือเรียกว่า method statement ว่าในแต่ละขั้นตอนทางผู้ประกอบหรือผู้รับเหมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่ ขณะนี้ต้องตรวจสอบให้ได้ว่า โดมิโน่ตัวแรกนั้นอยู่ที่ขั้นตอนไหน
เสนอ 'ผู้ตรวจอิสระ' ตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างในอนาคต
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ ระบุว่า โครงการก่อสร้างนี้ ภาครัฐเป็นคนดำเนินการและเป็นฝ่ายจัดหาผู้รับเหมา เพราะฉะนั้นในเรื่องของการกำกับ การควบคุมมาตรฐานในการก่อสร้าง จะต้องกระทำด้วยความเข้มงวดและไม่ย่อหย่อน
"ถ้าจะถามว่าหลักเกณฑ์ หลักการต่างๆ ทางวิศวกรรม มันมีครบอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามันไม่มี เพียงแต่ว่าการปฏิบัติจะต้องเคร่งครัด ทั้งผู้ปฏิบัติ และจะต้องมีทั้งผู้ตรวจสอบ" ศ.ดร. อมร ระบุ
ศ.ดร. อมร ระบุต่อไปว่า สิ่งที่ขาดไปก็คือการสุ่มตรวจโครงสร้าง การก่อสร้างขนาดใหญ่ เหมือนผู้รับเหมาได้รับงานไป ศ.ดร. อมร ยกตัวอย่างถึงกรณีทั่วไปว่า สมมติว่าผู้รับเหมาอยากเร่งงาน อาจจะมีการลัดขั้นตอนไป จึงเสนอว่า ควรมีผู้ตรวจอิสระ ซึ่งอาจแต่งตั้งโดยองค์กรวิชาชีพ และมีอำนาจในการเข้าไปตรวจได้เลยว่า การก่อสร้างดำเนินการถูกต้อง ได้มาตรฐานหรือไม่ มีวิศวกรกำกับดูแลหรือไม่
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ การก่อสร้างในที่ใกล้ถนน หรือชุมชนหนาแน่น ต้องพิจาราให้ดีว่า หากเป็นงานอันตราย อาจจะต้องปิดการจราจร หรือไม่ทำการก่อสร้างในช่วงเวลาที่มีผู้คนใช้ถนนอย่างหนาแน่น ซึ่งต้องมีการวางแผน
"ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติให้ดำเนินการในขั้นตอนใด ต้องประเมินสถานการณ์ว่า ถ้าเกิดว่าคุณทำขั้นตอนนี้แล้วมันเกิดความเสี่ยงอันตรายอย่างรุนแรง ก็อาจจะต้องไม่ทำในห้วงเวลานี้ อาจจะทำในช่วงกลางคืน หรืออาจจะต้องปิดการจราจร อันนี้มันเป็นเรื่องที่จะต้องมีการประสานงานกันให้ดี"
นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าว
ย้อน 4 อุบัติเหตุซ้ำรอย ระหว่างก่อสร้างทางสัญจรในรอบปี 'พระราม 2' ครองแชมป์
นอกจากกรณีเหตุการณ์สะพานถล่ม ย่านลาดกระบังดังกล่าวแล้ว ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ยังปรากฏอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างทางสัญจรแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้
7 พ.ค.66 : บริเวณจุดสร้างทางด่วน ตรงข้ามศาลเจ้าแม่งู ถนนพระราม 2 ฝั่งขาออก แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เกิดเหตุ คานปูนตกทับคนงานเสียชีวิต ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะกลางถนน เป็นโครงการทางด่วนพระราม 2 - บ้านแพ้ว พบคานปูนขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร ตกลงมาทับร่างของ นายวรวุฒิ อายุ 54 ปี ชาวจังหวัดหนองบัวลำภู คนงาน เสียชีวิต
5 ก.ย.65 : เกิดอุบัติเหตุรถเครนยกเหล็กชิ้นส่วนของคอนกรีตที่อยู่บริเวณหัวเสา (Pier Segment) เสียหลักและทรุด ทำให้เหล็กร่วงลงบนทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 290 กับทางหลวงหมายเลข 304 จ.นครราชสีมา ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
31 ก.ค.65 : เกิดเหตุแผ่นปูนสะพานกลับรถที่อยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุง หล่นลงมาทับรถยนต์หลายคันบนถนนพระราม 2 ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย เป็นผู้ขับรถเก๋ง และมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 3 คน ส่วนรถยนต์ได้รับความเสียหาย 4 คัน
17 ก.ค.65 : เกิดเหตุวัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงบนถนนพระราม 2 ทำให้รถได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน ในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย ตอน 2 ที่ กม.17+500 (ขาเข้า กทม.) จ.สมุทรสาคร
สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจราจรบนถนนดังกล่าว มีความรวดเร็ว รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ แก้ไขปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ระยะทางโครงการรวม 3,500 เมตร เจ้าของโครงการคือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณก่อสร้าง 1,664,550,000 บาท เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 64 - 11 ส.ค.66 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ เดือนธันวาคม 2567
เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการ TNNOnline
ภาพ : TNNOnline