รีเซต

GITหนุนไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก จัดประกวดสุดยอดพลอยสวยโชว์ศักยภาพผู้ผลิตไทย

GITหนุนไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก จัดประกวดสุดยอดพลอยสวยโชว์ศักยภาพผู้ผลิตไทย
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2564 ( 12:28 )
96
GITหนุนไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก จัดประกวดสุดยอดพลอยสวยโชว์ศักยภาพผู้ผลิตไทย

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออก 10 เดือน ปี 2564 อยู่ที่ 8,177.09 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งแนวโน้มการส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2564 คาดว่าจะยังดีขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในหลายประเทศฟื้นตัว 

ดังนั้น ด้วยจุดแข็งของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub ในการผลิต การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดจันทบุรีถือเป็นศูนย์กลางการผลิตและปรับปรุงคุณภาพพลอยสีที่สำคัญที่สุดของประเทศ และเป็นแหล่งการค้าพลอยสีที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีอัญมณีพลอยสีกว่า 80% ของโลก ส่งมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพและเจียระไน  ที่ประเทศไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ทำให้จังหวัดจันทบุรี ขึ้นชื่อว่าเป็นนครอัญมณี เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์คุณภาพของสินค้าอัญมณีไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง GIT จึงเตรียมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 (The 7th International Gem & Jewelry Conference” (GIT 2021)) ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี เมืองแห่งอัญมณีระดับโลก ภายใต้หัวข้อ “Towards the Sustainable Gem Industry” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติระหว่างนักวิชาการ ตัวแทนสมาคมการค้า ผู้ประกอบการ นักลงทุน ตลอดจนนักออกแบบ 

โดยภายใต้การประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับครั้งนี้ ยังมีไฮไลต์จัดแสดงสุดยอดพลอยสวยที่คัดสรรจากทั่วทุกมุมโลก "GIT's Enchanting Ruby & Sapphire Awards" รวม 3 ประเภท ได้แก่ 1. ทับทิม 2. ไพลิน 3.แฟนซีแซปไฟร์และพัดพารัดชา โดยทั้ง 3 ประเภทจะต้องเป็น พลอยธรรมชาติ ไม่จำกัดแหล่งกำเนิด เนื้อสะอาด มลทินไม่เด่นชัดด้วยตาเปล่า มีประกายและเจียระไนเป็นแบบ facet (เหลี่ยมเกสร/เหลี่ยมชั้น/เหลี่ยมผสม/เหลี่ยมแฟนซี) ไม่จำกัดรูปร่าง

นายสุเมธ ยังกล่าวด้วยว่า GIT ขอเชิญชวนผู้ประกอบการจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมประกวดพลอยภายในงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความสนใจอัญมณี อีกทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า อัญมณีคุณภาพของประเทศไทยให้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศได้รับรู้ สร้างความต้องการให้กับตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย ตลอดจนตอกย้ำภาพลักษณ์ศูนย์กลางการผลิต การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระดับโลก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประกวดพลอย สามารถลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันนี้ – 14 มกราคม 2565 ผ่านช่องทางออนไลน์ www.gitconference2021.com หรือส่งใบสมัครมาที่อีเมล git2021secretariat@outlook.com โดยจะประกาศผลผู้ได้รับรางวัล และมอบรางวัลภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 7 (“GIT 2021 : The 7th International Gem & Jewelry Conference”) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565



ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ  

ภาพประกอบ: พีอาร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง