รีเซต

กต.กังวลสถานการณ์มนุษยธรรมในเมียนมา หวังตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนได้โดยเร็ว

กต.กังวลสถานการณ์มนุษยธรรมในเมียนมา หวังตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนได้โดยเร็ว
มติชน
12 กรกฎาคม 2564 ( 15:26 )
53
กต.กังวลสถานการณ์มนุษยธรรมในเมียนมา หวังตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนได้โดยเร็ว

 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับมุมมองของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาล่าสุด โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องให้กระบวนการของอาเซียนเดินหน้าได้โดยเร็ว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์มนุษยธรรมและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมียนมาว่า ไทยติดตามสถานการณ์ในเมียนมาด้วยความห่วงใย เนื่องจากยังเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในเมียนมา ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อไทย
 
 
 
 
นายธานีกล่าวว่า ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ไทยต้องการเห็นสันติภาพ ความสงบสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมียนมา และไทยจำเป็นต้องอยู่กับความเป็นจริงที่มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร ซึ่งทำให้ไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมียนมาได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็ตระหนักดีถึงความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ในเมียนมา  ด้วยเหตุนี้ ทุกย่างก้าวของไทยจึงต้องเป็นไปอย่างสุขุม รอบคอบ และรอบด้านอย่างยิ่ง โดยต้องคํานึงถึงผลที่จะตามมาในทุกด้านทุกมิติ
 
 
 
 
“หลายอย่างจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการทางการทูตแบบเงียบ ๆ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมาและจริงใจในการผลักดันผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี และร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ให้มีการยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเป็นสำคัญ ซึ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องอาศัยความอดทนและความเข้าใจสถานการณ์ที่ใกล้ชิดและถ่องแท้”นายธานีกล่าว
 
 
 
 
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยเห็นว่าอาเซียนจะสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยกันในเมียนมาได้  ดังนั้นไทยจึงเสนอแนวทางการดำเนินการของอาเซียนและต้องการเห็นการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเริ่มหารือกับฝ่ายต่างๆ ได้ ทั้งนี้หากฝ่ายต่างๆ ในเมียนมายังไม่ยอมพูดคุยกัน ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ มนุษยธรรม และการระบาดของโรคโควิด-19 จะไม่สามารถทำอย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
 
 
นายธานีกล่าวด้วยว่า ไทยเห็นว่าการสนับสนุนความช่วยเหลือมนุษยธรรมโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนเมียนมามีความสำคัญอย่างยิ่ง และกำลังหาลู่ทางต่างๆ ที่จะดำเนินการได้ โดยในระดับอาเซียน ไทยต้องการให้ศูนย์ความช่วยเหลือมนุษยธรรมของอาเซียน (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance—AHA Centre)  สามารถเริ่มงานได้โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมียนมาจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ โดยไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  นอกจากนี้ในระดับทวิภาคี ไทยได้มอบเงินให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจำนวน 5 ล้านบาทผ่านสภากาชาดไทยและเมียนมาเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้ ควบคู่กับดำเนินโครงการสร้างเสริมการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับเมียนมา ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา  โดยไทยยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมและสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเมียนมาเพิ่มเติมอีกด้วย
 
 
 
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีไทยต่อการดำเนินการเรื่องเมียนมาภายใต้กรอบสหประชาชาติ นายธานีกล่าวย้ำว่า ไทยสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการแก้ไขปัญหาในเมียนมามายาวนาน ทั้งผ่านการทำงานร่วมกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับเมียนมาทุกคนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และหน่วยงานของสหประชาชาติต่างๆ รวมถึงการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการหารือในเวทีสหประชาชาติ ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมติของที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาที่ผ่านมา ขอทำความเข้าใจว่าข้อมติดังกล่าวมิได้มีเพียงเรื่องการห้ามส่งอาวุธให้กับเมียนมาเป็นการเฉพาะอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน แต่กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาในหลากหลายมิติ ซึ่งท่าทีของไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาต่อข้อมติดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการทูตของไทยที่จำเป็นต้องสุขุม รอบคอบและรอบด้าน ตามที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ เข้าใจดี และสอดคล้องกับท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาอื่นๆ ทุกประเทศที่มีท่าทีไปในทิศทางเดียวกันหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง