รีเซต

“พิชัย”ระบุ ไทยควรมีกฎหมายบังคับลดการปล่อยคาร์บอน หวังเร่งภาคธุรกิจปรับตัว

“พิชัย”ระบุ ไทยควรมีกฎหมายบังคับลดการปล่อยคาร์บอน หวังเร่งภาคธุรกิจปรับตัว
ทันหุ้น
26 พฤศจิกายน 2567 ( 12:55 )
15

“พิชัย”ระบุ ไทยควรมีกฎหมายบังคับลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อเร่งภาคธุรกิจปรับตัวรองรับการเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในอีก 41ปีข้างหน้า หวั่นภาคธุรกิจส่งออกกระทบหลัง EU ออกมาตรการ CBAM ประเมินไทยยังย่ำอยู่กับที่ต่อเป้าหมายดังกล่าว

 

#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ ขณะนี้ การปล่อยคาร์บอนของไทย ยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับวันที่เราทำพันธสัญญาระหว่างประเทศในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยหากว่า ยังไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ตามเป้าหมาย เราอาจจำเป็นต้องมีการออกกฎหมาย เพื่อออกมาบังคับให้ลดการปล่อยคาร์บอน

 

ทั้งนี้ เขากล่าวระหว่างปาฐกถาในงานสัมมนา ที่จัดโดยเครือ นสพ.ผู้จัดการ ในหัวข้อ Net Zero and the Challenges of The New Global Economy

 

เขากล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามผูกพันตามพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าจะเป็น Net Zero คาร์บอนในอีก 41 ปีข้างหน้า ซึ่งดูเหมือนเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่รู้ว่าเราจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าวหรือไม่ แต่มองดูแล้วน่าจะลำบากที่จะทำได้ทันเป้าหมายดังกล่าว

 

“เราจำเป็นต้องเริ่มต้น ด้วยการลดการปล่อยคารบอนก่อนที่จะไปสู่ Net Zero ซึ่งต่อไปจะต้องมีการวัดการปล่อยคารบอนว่าใครเคยปล่อยไปเท่าไหร่และสามารถลดลงได้เท่าไหร่ แต่หากไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ต่อไปคงต้องกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อบังคับ”

 

เขากล่าวว่า ขณะนี้ EU ได้เริ่มต้นการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน สำหรับสินค้านำเข้ามาขายใน EU แล้ว หรือ Cross Border Carbon Adjustment Mechanism :CBAM ซึ่งประเทศใดที่ทำไม่ได้ตามเงื่อนไขก็ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายใน EU ได้ หรือส่งสินค้าได้แต่ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น

 

“มาตรการ CBAM เริ่มที่ยุโรป โดยประเทศใดที่ผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน จะไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังฝั่ง EU ได้ หรือ ถ้าส่งออกไปได้ ก็จะต้องมีค่าการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น นักธุรกิจเราจะต้องปรับตัว”

 

เขากล่าวอีกว่า การลดการปล่อยคาร์บอน อาจเป็นทั้งปัญหาและโอกาสของประเทศไทย เนื่องจาก กลไกหนึ่งของการลดการปล่อยคารบอนที่สามารถทำได้ตามมาตรฐานสากล คือ การขายคารบอนเครดิต ซึ่งปัจจุบันประเทศในยุโรปมีการค้าขายคาร์บอนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในราคาตันละ 70-100เหรียญสหรัฐ และประเทศที่อยู่ใกล้กับไทยคือสิงคโปร์ ก็มีการซื้อคารบอนเครดิตแล้วในราคา32 เหรียญต่อตัน นั่นหมายความว่าเรามีตลาดคาร์บอนเครดิตที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ในด้านตลาดทุนไทย ก็มีการออก digital investment token และเตรียมที่จะออก utility token ต่อไป

 

ทั้งนี้ ไทยได้ลงนามในพันธะสัญญาระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะลดการปล่อยคารบอนลง 20-25%จากปริมาณการปล่อยคารบอนในปีที่ทำสัญญา ซึ่งไทยปล่อยคาร์บอนปีละ 555 ล้านตันคาร์บอน และกำหนดเป้าหมายเป็น Carbon Neutrality ภายในปี 2593สุดท้ายจะเป็น Net GHG emission ภายในปี 2608

 

เขากล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะไปสู่การเป็น Digital economy แต่การไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เราจำเป็นต้องเร่งสร้าง Green energy เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานของโลกในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในฐานการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งหลังจากที่จีนถูกกีดกันทางการค้า ในขณะที่ จีนเองมี Over capacity ก็มีการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ รวมถึง ประเทศไทย ทำให้ยอดการลงทุนผ่านบีโอไอในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมากถึง 7 แสนล้านบาท หรือราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำลายสถิติของบีโอไอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

ในอดีตการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ แต่ในวันนี้เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำด้วย เช่น อุตสาหกรรม semiconductor และ it designเป็นต้น นอกหนือจากนี้ ยังมีการลงทุนในdata center ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะเชิญให้นักลงทุนมาตั้ง data center ในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็น Hubในด้านนี้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต้องการจากประเทศไทย หากจะมาลงทุนในไทยคือ 1. อยากได้ที่ดินที่พัฒนาแล้ว และมีราคาไม่แพง 2.อยากได้พลังงานสีเขียว และให้รัฐออกกฎเกณฑ์การอนุญาต ให้ใช้สายส่งร่วม หรือหากมีพลังงานเหลือสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าได้ และ3. Skill worker

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง