กกต.กางไทม์ไลน์ เลือก “ 200 สว." ชุดใหม่
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งให้ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เข้ารับเอกสารเอกสารการสมัครได้ที่นายทะเบียนอำเภอในแต่ละอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นในพื้นที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า จนถึงวันที่ 17 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันที่ 8 มีผู้เข้ารับเอกสารการสมัครจากทั่วประเทศ รวม 28,211 คน นอกจากนี้ยังพบว่า กรุงเทพมหานคร มีผู้มาขอใบสมัครมากที่สุด คือ 2,977 คน โดยเขตจตุจักร ยื่นขอรับใบสมัครมากสุด 148 คน รองลงมา เขตบางเขน 137 คน และเขตลาดพร้าว 110 คน แต่เมื่อแยกเป็นรายเขตอำเภอ จาก 928 อำเภอทั่วประเทศ พบว่า อำเภอที่มีผู้มาขอใบสมัครมากสุด 5 ลำดับแรก คือ อำเภอเมืองลพบุรี 265 คน อำเภอเมืองนนทบุรี 232 คน อำเภอเมืองสมุทรปราการ 224 คน อำเภอบางพลี 218 คน และ อำเภอเมืองขอนแก่น 215 คน
สำหรับไทม์ไลน์ กระบวนการให้ได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ 200 คน เป็นดังนี้
• วันที่ 11 พ.ค.2567 พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก
สว. 2567 มีผลบังคับใช้
• วันที่ 13 พ.ค.2567 ประกาศกำหนดวันและเวลารับสมัคร และวันเลือกระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ
• วันที่ 14 พ.ค. ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศกำหนดสถานที่รับสมัคร /กกต.เชิญสื่อมวลชนคุยแนวทางปฏิบัติ ในการการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
• วันที่ 20-24 พ.ค.2567 เป็นวันเปิดรับสมัคร สว.
• 29 พ.ค.2567 วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.
• เข้าสู่กระบวนการเลือกแบบไต่ระดับ
• วันที่ 9 มิ.ย.2567 เลือก สว. : ระดับอำเภอ
• วันที่ 16 มิ.ย.2567 เลือก สว. : ระดับจังหวัด
• วันที่ 26 มิ.ย.2567 เลือก สว. : ระดับประเทศ
• เดือน ก.ค.2567 วันประกาศผลการเลือก สว.
สำหรับการเลือก สว. คนที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มีสิทธิรับสมัครรับเลือกเป็น สว.ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ บางคนอาจพอรู้มาบางแล้ว ลองมาทวนกันดูอีกสักรอบ มีด้วยกัน 20 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการอัยการ ตํารวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
3.กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
4.กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
5.กลุ่มอาชีพทํานา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
6.กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงาน
ของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
10.กลุ่มผ้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9
11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
14.กลุ่มสตรี
15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
20.กลุ่มอื่น ๆ (กรณีคลุมเครือ ไม่สามารถระบุไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้)
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น นับว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีความสำคัญยิ่งในการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แม้ว่า รธน.ปี 2560 จะไม่ได้ออกแบบให้ สว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
โดยหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วย
• กลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านการพิจารณาของ สส.
• ตรวจสอบและควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน
• ให้ความเห็นชอบบุคคล ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญของ “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ “สภาสูง” คือต้องไม่ฝักใฝ่หรือยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมือง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เรียบเรียงโดย ปุลญดา บัวคณิศร