รีเซต

‘สมคิด’ เร่งบอร์ดพีพีพี ลุยโครงการมูลค่า 4.7 แสนล้าน โครงการไหนช้ายกเลิกไม่ต้องลงทุน

‘สมคิด’ เร่งบอร์ดพีพีพี ลุยโครงการมูลค่า 4.7 แสนล้าน โครงการไหนช้ายกเลิกไม่ต้องลงทุน
มติชน
26 มิถุนายน 2563 ( 13:00 )
86
1

‘สมคิด’ เร่งบอร์ดพีพีพี ลุยโครงการมูลค่า 4.7 แสนล้าน โครงการไหนช้ายกเลิกไม่ต้องลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ครั้งที่ 2/2563 ว่า เป็นที่ทราบดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานการณ์ทั่วโลกไม่สู้ดีนัก ซึ่งกระทบต่อการลงทุนในภาพรวมของทุกประเทศ แต่ส่วนที่ยังพอควบคุมได้คือ การเร่งการลงทุนในประเทศ ซึ่งจากการเสนอข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกโครงการล่าช้าออกไป 6-10 เดือน ดังนั้น จึงกำชับให้ สคร. ส่งสัญญาณไปยังรัฐวิสาหกิจ โดยพยายามให้โครงการที่คิดว่าจะเข้ามาให้ช่วงปี 2563 เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ อาจจะล่าช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ล่าช้าเป็นปี

 

นายสมคิด กล่าวว่า โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ต้องเร่งรัดให้มีการลงทุนโดยเร็ว ส่วนการลงทุนในปีถัดไปก็เร่งนำมาใช้ในปีนี้ และปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยให้เน้นโครงการลงทุนที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่โครงการที่มีแผนอยู่แล้วจะมีการอนุมัติภายในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดความล่าช้า จึงได้มอบหมายให้ สคร. ติดตามว่าล่าช้าเพราะอะไร ถ้าไม่มีเหตุผลไม่ให้ล่าช้า และถ้าล่าช้ามากให้ยกเลิกไม่ต้องลงทุน ดังนั้น จึงต้องติดตาม และรัฐบาลต้องการเห็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน ไม่ใช่แค่โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องการเห็นในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านสังคม ด้านการบริการ การแพทย์ การศึกษา ที่อยู่อาศัยของคนชรา เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ยังมีความตื่นตัวน้อย อาจเป็นเพราะแรงจูงใจไม่มากพอ ซึ่งก็ได้กำชับให้นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พยายามหาแนวทางจูงใจนักลงทุน

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในทางปฏิบัติต่อไป ขอให้ สคร. เร่งหารือและจัดการประชุมอีกครั้งร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในโครงการที่สำคัญว่ามีโครงการใดที่จะสามารถเร่งรัดได้บ้าง ด้วยวันนี้เศรษฐกิจต้องการการลงทุน ประกอบกับการส่งออกก็ยังไปไม่ได้ จึงต้องอาศัยการลงทุนในประเทศ ซึ่งเรื่องการบริโภคในประเทศก็เชื่อมโยงกันคือ เมื่อมีการลงทุน การบริโภคก็จะได้รับการขับเคลื่อนด้วย

 

“โครงการต่างๆ ที่ล่าช้าออกไปไม่ใช่เกียร์ว่าง แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการประสานงานต่างๆ ถูกกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่ต้องการคือช่วยกันเร่งให้เกิดการลงทุน ซึ่งมองว่ายังสามารถช่วยกันทำงานเพื่อให้เกิดการลงทุนที่รวดเร็วขึ้นได้ ซึ่งเราทำเต็มที่โดยคณะกรรมการพีพีพีมีหน้าที่ฟังข้อมูล หารือ และชี้แนะ ส่วน สคร. มีหน้าที่กำกับดูแลในเชิงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่งเราประเมินตามขั้นตอนอยู่แล้ว” นายอุตตม กล่าว

 

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการพีพีพี) กล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการพีพีพี มีข้อสรุปประกอบด้วย 1.คณะกรรมการพีพีพี ได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 (สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการเสนอโครงการครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

 

2.คณะกรรมการพีพีพีได้เร่งรัดความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน ปี 2563-2570 ของโครงการร่วมลงทุนที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 472,050 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 10 โครงการที่ล่าช้า คิดเป็นมูลค่าหลายแสนหลายบาท โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ที่ 200,000 กว่าล้านบาท เพื่อให้โครงการดังกล่าวมีความพร้อมในการเสนอโครงการต่อคณะกรรมการพีพีพี ได้ตามแผนงาน รวมทั้งคณะกรรมการพีพีพี ได้เน้นการส่งเสริมการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการที่ตอบสนองกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านธุรกิจบริการ ด้านโลจิสติกส์ และด้านดิจิทัล เป็นต้น และ 3.คณะกรรมการพีพีพียังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือในกรณีปัญหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ความคืบหน้าโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน 2563-2570 เทียบกับข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานในช่วงกรกฎาคมปี 2562 ประเมิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า 72 โครงการมีความล่าช้าจากแผน และหากคิดจากมูลค่าโครงการ 95% มีความล่าช้าจากแผน โดยคณะกรรมการพีพีพีได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ติดตาม เร่งรัด และสนับสนุนในกระบวนการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้โครงการข้างต้นสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ตามแผนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง