รีเซต

ดร.ธรณ์ โพสต์เล่าเรื่องบีบหัวใจ "โลมาอิรวดี" เหลือ 14 ตัวสุดท้ายในไทย!

ดร.ธรณ์ โพสต์เล่าเรื่องบีบหัวใจ "โลมาอิรวดี" เหลือ 14 ตัวสุดท้ายในไทย!
TNN ช่อง16
27 เมษายน 2565 ( 14:54 )
101

วันนี้( 27 เม.ย.65) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เรื่องราวน่าตกใจที่หลายคนไม่รู้มาก่อนผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

โดยระบุว่า "โลกนี้มีบางอย่างที่เป็นความหมายของสิ้นหวัง มีบางเหตุการณ์ทำให้เราเกิดอาการ “ใจสลาย” 100-86 = 14 สามสิบปี จากร้อยกว่าตัว เหลือเพียงสิบสี่ #14สุดท้าย

เรื่องราวต่อจากนี้คือบันทึกถึงความสิ้นหวังสูงสุดของการอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากของไทย สิบสี่สุดท้ายแห่งทะเลสาบสงขลา

โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140+ อินโด 90 เมียนมาร์ 80 กัมพูชา 90 ไทย = 14

ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ มันไม่มีอะไรจะเถียงได้ด้วยตัวเลขที่เห็น เพื่อนธรณ์บางคนอาจบอกว่า ลาวสูญพันธุ์ไปก่อนแล้วนะ

ดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลหายากของไทย อธิบายให้ผมฟัง ประชากรโลมาในแม่น้ำโขงของลาว/กัมพูชา เป็นกลุ่มเดียวกัน ว่ายไปว่ายมา หากเราอนุรักษ์ในกัมพูชาไว้ได้ ในอนาคตยังมีหวังที่โลมาจะกลับเข้าไปในลาว

ผิดจากทะเลสาบสงขลา ผิดกันที่ว่า ของเราจบแล้ว…จบเลย ไม่มีมาจากไหนอีก ปิดฉากสุดท้ายของประวัติศาสตร์ 6,000 ปี

อะไรคือ 6 พันปี ?

นานมาแล้ว ระดับน้ำทะเลในแถบนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่อ 6 พันปีก่อน โลมาอิรวดี สัตว์เฉพาะเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามชายฝั่งไปทั่ว โลมาฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง/สงขลา ระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนทะเลกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบๆ ที่ยังเชื่อมต่ออยู่กับทะเลข้างนอก แต่โลมายังมีความสุขอยู่ในทะเลสาบ ที่นี่ไม่มีผู้ล่าลูกๆ ของพวกเธอ ยังมีปลากินเยอะแยะเลย ทะเลสาบสงขลาในสมัยก่อนที่สมบูรณ์สุดขีด โลมาออกลูกหลานจนเป็นร้อยๆ ตัว แล้วมนุษย์ก็เข้ามา…

สมัยก่อน ความต้องการไม่มาก โลมายังมีความสุข พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมง เราอยู่ด้วยกันได้ ทว่า…คนมีมากขึ้น จับปลามากขึ้น ยังมี…การปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึก

โลมากับปลาบึกขนาดใกล้เคียงกัน โลมาไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็น หนีไม่รอด โลมาหายใจด้วยปอด โลมาติดอวนจมน้ำตาย

ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัด ก่อนหน้านี้ โลมาตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว ปล่อยปลาบึกปี 2545-51 พอปลาโต คนเริ่มจับ ในช่วงปี 2550-2555 โลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัวหลังจากนั้น จำนวนตายเริ่มลดลง ไม่ใช่เพราะเราแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเพราะโลมาลดลง จนไม่มีเหลือให้ตาย

ยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปลาที่เป็นอาหารถูกจับจนเหลือน้อย น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน ฯลฯ จนถึงเลือดชิด ประชากรเหลือน้อยมาก ผสมพันธุ์กันเอง แต่ละปัญหานำพามาสู่เลข 14

14 สุดท้าย 14ก่อนจะไม่มีอะไรเหลือ

โลมาที่เคยอาศัยมาตั้งแต่ก่อนยุคผีแมนแห่งแม่ฮ่องสอน ก่อนมนุษย์ในอดีตจะวาดภาพโลมาบนผนังถ้ำในภาคใต้ เหลือเพียง 14 สุดท้าย และจะสูญสิ้นไปในรุ่นเรา ตายเหี้ยน หมดสิ้น สูญพันธุ์ !

อีกกี่ปี ? นั่นคือประโยคที่ผมถามดร.ก้องเกียรติ

ถ้าตายปีละ 2 ตัว ก็อาจ 10-15 ปี

ถ้าตายปีละ 3 ก็อยู่ที่ 8-10 ปี

ถ้าตายปีละ 4-5 ไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว

ทว่า…ถ้าตายปีละตัว จำนวนอาจเพิ่มขึ้น อย่างช้าๆ แต่ก็เพิ่ม เพราะฉะนั้น เรายังไม่ถึงหน้าสุดท้าย บันทึก “ตำนาน 6 พันปีของโลมาแห่งทะเลสาบสงขลา” ยังไม่อาจเขียนคำว่าจบบริบูรณ์

น้ำตาซึมได้ แต่ยังไม่ต้องร้องไห้โฮ ร้องไห้โฮค่อยทำตอนสิ้นหวัง ยังมีหวัง ยังไม่…ร้องไห้โฮ รอบตัวผมมีคนอีก 3 คน ก้องเกียรติ ทอม สายป่าน รอบข้างผม มีคนอีกกว่าสามสิบ พี่แดง แพง ทีม #thaiwhales เราอยู่ริมน้ำ ในน้ำหากพูดให้ถูกต้อง ผู้กำกับ ช่างกล้อง น้องดูแลจิปาถะ พากันยกกล้องยกอุปกรณ์  กล้องใหญ่สี่ กล้องเล็กอีกเพียบ ทีมโปรดักชั่นเทียบเท่าการทำโฆษณาดีๆ สักชิ้น

แต่เราไม่ได้มาทำโฆษณาให้มนุษย์ เรามาทำงานให้โลมา

เรามาเป็นสื่อถ่ายทอดเสียงโหยหวนอันเป็นสุดท้ายให้ TheLast14 เวลาสองวัน งานกลางแดดร้อนจ้า แสงตะวันสาดส่องแรงจากบนฟ้า ลงมาผิวน้ำก่อนสะท้อนระยิบยับ ตัวดำกว่าเดิม ดำปิ๊ดปี๋ 

เวลาที่แทบไม่มีอยู่แล้ว ตารางที่แน่นขนัด ยังถูกเบียดแทรกเข้ามา แต่ผมไม่สนใจ ไม่สนว่าจะมีคนดูเท่าไหร่ ไม่สนว่าจะทำให้ใครสนใจมากขึ้นบ้างไหม ไม่สนว่าจะช่วยได้แค่ไหน ไม่สนใจอะไรเลยเฟ้ย ผมสนเพียงว่า ผมจะทำ 

ผมอยากทำให้เสียงโหยหวนในใจมันเงียบลงบ้าง เสียงที่ตอกย้ำความพ่ายแพ้ของการอนุรักษ์สัตว์หายากของไทย วาฬบรูด้าในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น พะยูนอยู่รอด โลมาสีชมพูแห่งขนอม/ดอนสัก ไม่ต้องห่วง  แต่เสียงที่บาดลึกกลางใจไม่เคยหาย 

สามสิบปี จากร้อยกว่าเหลือสิบสี่

14 สุดท้าย 

เสียงแผ่วๆ แว่วมาจากทะเลสาบสงขลา

เสียงร้องไห้…

ผมไม่อาจทนฟังพวกเธอร้องจนขาดเสียงไป

โดยไม่มีใครแม้สักคนได้สดับ…ตรับฟัง

และสำหรับความหวัง คำถามว่าเราควรทำอย่างไร

คำตอบมีเพียง ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำในสิ่งที่สามสิบปีเราไม่เคยทำได้

การอนุรักษ์สัตว์ที่เหลือเพียง 14 ตัว ให้อยู่รอดต่อไป

มันไม่มีอยู่ในตำราใดๆ

ปาฏิหาริย์ไม่เคยเขียนไว้ในตำรา"







ภาพจาก Thon Thamrongnawasawat 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง