รีเซต

ความท้าทาย 5 ประการที่ ปธน. โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญ

ความท้าทาย 5 ประการที่ ปธน. โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญ
บีบีซี ไทย
22 กันยายน 2564 ( 09:10 )
23
ความท้าทาย 5 ประการที่ ปธน. โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญ

มค์ ไทสัน อดีตนักมวยชื่อดังเคยพูดไว้ว่า "ทุกคนมีแผนการหมดแหละ จนกระทั่งโดนชกเข้าที่ปาก"

เราอาจพูดได้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นั้น

เขาเริ่มต้นการเป็นผู้นำประเทศพร้อมแผนการมากมาย ทั้งการเยียวยาผลกระทบจากโควิด และเงินทุนมหาศาลเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย

แต่ในช่วงเดือนครึ่งที่ผ่านมา นายไบเดน "โดนชกเข้าที่ปาก" มาอย่างต่อเนื่อง คะแนนนิยมเขาติดลบเป็นครั้งแรกหลังเผชิญความโกลาหลและความสูญเสียจากการถอนทัพจากอัฟกานิสถาน ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไปจนถึงความกังวลเรื่องการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในประเทศ

นี่คือความท้าทาย 5 ประการที่นายโจ ไบเดน กำลังเผชิญซึ่งเขาอาจจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้ หรือไม่ก็ยิ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากกว่าเดิม


แผน "build back better"

หลายเดือนก่อนหน้านี้ พรรคเดโมแครตตั้งเป้าดำเนินนโยบายสำคัญของไบเดนให้สำเร็จภายในสมัยแรกของตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีกลไกสำคัญ 2 เรื่อง คือ

 

  1. งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่วุฒิสภาอนุมัติไปแล้วเมื่อเดือน ส.ค. และขณะนี้รอการพิจารณาต่อโดยสภาผู้แทนราษฎร
  2. แผนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะสนับสนุนประเด็นต่าง ๆ ที่พรรคเดโมแครตให้ความสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็ก การศึกษา สาธารณสุข การดูแลคนสูงอายุ การให้สิทธิลาสำหรับครอบครัว และสิ่งแวดล้อม

 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายฟื้นฟูประเทศ "build back better" หรือ "สร้างใหม่ให้ดีกว่าเก่า" และการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีวิสัยทัศน์ที่จะดูแลเอาใจใส่ประชาชน แผนการเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสินว่ารัฐบาลของไบเดนจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ในปีนี้

 

 

แผนส่วนที่ 2 จะผ่านการอนุมัติในสภาคองเกรสได้ต้องใช้เสียงโหวตจากสมาชิกพรรคเดโมแครตอย่างเดียว และตรงนี้เองเป็นความท้าทายที่ไบเดนต้องจัดการ

 

 

โจ แมนชิน วุฒิสภาจากรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย บอกว่าจะไม่สนับสนุนงบประมาณที่มากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เขากังวลว่านโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มภาษีจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ในเวทีโลกลดลง

G

 

อย่างไรก็ดี เบอร์นี แซนเดอร์ส สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ บอกว่าสมาชิกพรรคฝ่ายเขาได้ประนีประนอมลดตัวเลขงบประมาณจาก 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และจะไม่ยอมรับแผนใด ๆ ที่ให้เงินน้อยกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นายแซนเดอร์ส สนับสนุนระบบสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ซึ่งนี่อาจเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่โครงการเมดิแคร์ (Medicare) ซึ่งจะเป็นโครงการประกันสุขภาพสำหรับชาวอเมริกันทุกคน

 

 

ความท้าทายคือนายไบเดน จะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝักฝ่ายในพรรคตัวเองประนีประนอมกันได้ เพราะความหวังนี้อาจพังครืนได้หากมีคนไม่กี่คนโหวตคัดค้านในสภาคองเกรส

 

 

การทำแท้ง

การที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ไม่ได้ขัดขวางที่รัฐเท็กซัสประกาศใช้กฎหมายห้ามผู้หญิงตั้งครรภ์แค่ 6 สัปดาห์ทำแท้ง ทำให้เกิดกระแสถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์มากมาย

 

 

หลายคนมองว่านี่เป็นสัญญาณว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะกลับคำตัดสินจากเมื่อปี 1973 ในคดี "Roe v Wade" ซึ่งกลายเป็นบรรทัดฐานแห่งการปกป้องสิทธิผู้หญิงในการเลือกจะทำแท้ง

 

 

กรณีการถกเถียงล่าสุดเป็นแรงกดดันให้นายไบเดนและพรรคของเขาผลักดันให้การคุ้มครองสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิงกลายเป็นกฎหมายระดับประเทศ

รัฐบาลของไบเดนได้ยื่นฟ้องต่อรัฐเท็กซัสแล้ว แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในการทำแท้งต้องการให้รัฐบาลเคลื่อนไหวเรื่องนี้ในระดับสภาคองเกรส ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจจะถูกฝ่ายรีพับลิกันต่อต้าน

 

 

อย่างไรก็ดี การต่อสู้เรื่องนี้อาจเป็นช่องทางให้พรรคเดโมแครตได้รับคะแนนนิยมจากผู้สนับสนุนของพวกเขาก่อนการเลือกตั้งกลางสมัยในปี 2022

 

 

กฎหมายของเท็กซัสห้ามผู้หญิงทำแท้งตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์เลยด้วยซ้ำ และก็ไม่มีข้อยกเว้นแม้จะโดนข่มขืนหรือเป็นการตั้งครรภ์จากการกระทำของสมาชิกในครอบครัวตัวเอง การชูประเด็นนี้อาจช่วยดึงคะแนนความนิยมจากผู้ที่สนับสนุนเดโมแครตในระดับกลาง ๆ และอาจชื่นชอบนายไบเดนน้อยลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้

 

 

หากนายไบเดนถูกมองว่าต่อสู้เรื่องนี้ไม่เพียงพอและพ่ายแพ้เรื่องสิทธิในการทำแท้ง อาจเท่ากับว่าเขาต้องเสึยฐานเสียงคนสนับสนุนพรรคเดโมแครตไปด้วย

 

โควิด-19

รัฐบาลของไบเดนรู้นานแล้วว่ารัฐบาลนี้จะประสบเสร็จหากรับมือกับโควิด-19 ได้ดี ในช่วงหนึ่ง ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะทำให้พวกเขาได้เปรียบ เมื่อเดือน ก.ค. นายไบเดนบอกว่าสหรัฐฯ ใกล้จะเป็น "อิสระ" จากโรคระบาดใหญ่นี้แล้ว

แต่แล้วการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาก็ทำให้สถานการณ์แย่อีกครั้ง แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ปฏิเสธไม่รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ฟรี และมีเหลือให้ฉีดอย่างเหลือเฟือ

 

 

นี่ทำให้นายไบเดนเปลี่ยนท่าที โดยเขากล่าวโทษประชาชนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนซึ่งมีอยู่ราว 25% ของประชากรทั้งหมด และทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง และออกคำสั่งซึ่งครอบคลุมคนทำงานในสหรัฐฯ ถึง 100 ล้านคน ว่าต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ต้องมีผลการตรวจเชื้อก่อนเข้าที่ทำงาน

 

 

ในช่วงแรก ๆ รัฐบาลคอยจับตามองว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะตอบโต้ต่อแรงกดดันนี้อย่างไร ขณะที่ฝ่ายรีพับลิกันคอยสนับสนุนผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเหล่านี้

 

 

อย่างไรก็ดี จากนั้นเป็นต้นมา ผลโพลสำรวจความคิดเห็นต่าง ๆ ก็ออกมาในทางที่สนับสนุนนายไบเดนชัดเจน อย่างในโพลสำรวจโดยบริษัทมอร์นิง คอนซัลต์ (Morning Consult) พบว่า 58% สนับสนุนข้อกำหนดให้ฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ต้องมีผลตรวจของบริษัทเอกชนที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน

 

 

ตัวเลขจากโพลสำรวจเหล่านี้ชี้ว่าข้อกำหนดลักษณะนี้อาจเป็นผลดีทางการเมืองสำหรับพรรคเดโมแครต

 

 

อัฟกานิสถาน

การถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานมีผลกระทบอย่างมากต่อความนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดีไบเดน คะแนนความนิยมในตัวเขาร่วงจากระดับที่ผู้นำทำเนียบขาวในอดีตหลายคนอิจฉามาสู่ระดับพื้นที่สีเทาที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการเลือกตั้งในอนาคตได้

 

 

แม้ทีมงานการเมืองในทำเนียบขาวหวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความยุ่งเหยิงเนื่องจากการถอนทัพจากอัฟกานิสถานจะลดระดับความร้อนแรงทางการเมืองลง แต่ดูเหมือนว่า ยังมีความเป็นไปได้อีกหลายเรื่องต่อความวุ่นวายในอนาคต หากอัฟกานิสถานกลายเป็นสวรรค์ของบรรดากองกำลังติดอาวุธอิสลาม หรือ หากพลเมืองอเมริกันที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถานตกอยู่ในอันตราย หรือ ระบอบปกครองตาลีบันคุกคามพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค เรื่องเหล่านี้ล้วนมีผลต่อคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี

 

 

ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรครีพับลิกัน ไล่ลงมาตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนมุ่งมั่นที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมือง พวกเขาเรียกร้องให้นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาออก และสมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนก็ช่วยขุดคุ้ยหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับรายละเอียดเบื้องหลังการตัดสินใจถอดทหารในช่วงที่สุ่มเสี่ยงเช่นนั้น

คาดได้ว่า อัฟกานิสถานจะเป็นประเด็นใหญ่ของการหาเสียงเลือกตั้งช่วงครึ่งทางของสภาฯ

 

 

ความยุ่งเหยิงทางการทูต

ในขณะที่นายไบเดนมัวแต่จัดการปัญหาในประเทศ ปัญหาระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นระหว่างประเทศนี้ ถือเป็นจุดแข็งของนายไบเดน ที่เคยดำรงรองประธานาธิบดีถึง 8 ปี และนั่งอยู่ในกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา มาหลายทศวรรษ ทว่า การผ่านประสบการณ์มามาก ก็ไม่ได้แปลว่า จะใช้มาแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ง่าย

 

 

เอาแค่เรื่องสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ต้องออกมาพยายามสกัดความเสียหายไม่ให้ลุกลาม หลังจากที่ฝรั่งเศสออกมาโวยวายว่าต้องสูญเสียโครงการเรือดำน้ำมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ออสเตรเลียสั่งซื้อ เนื่องจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรมาทำความตกลงช่วยออสเตรเลียต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

 

 

บรรดาผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ถึงกับพูดไม่ออก เมื่อรัฐบาลของนายไบเดนกลับดำเนินนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ไม่ต่างจากนายทรัมป์ ไปจับมือกับสหราชอาณาจักรที่ออกจากการเป็นสมาชิกอียูไปแล้ว ทำข้อตกลงด้านอาวุธมูลค่ามหาศาล

 

 

แม้แทบไม่มีชาวอเมริกันที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฝรั่งเศส แต่กรณีพิพาทของ 2 ประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อวาระทางการเมืองของประธานาธิบดีในเรื่องความร่วมมือกับอียูด้านการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตสนใจ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง