รีเซต

ดิจิเทรนด์ฟอร์เวิร์ด : ชีวิตยุคโควิด-19 อยู่ยังไงให้คิดบวก

ดิจิเทรนด์ฟอร์เวิร์ด : ชีวิตยุคโควิด-19  อยู่ยังไงให้คิดบวก
มติชน
28 มีนาคม 2563 ( 12:00 )
77
ดิจิเทรนด์ฟอร์เวิร์ด : ชีวิตยุคโควิด-19  อยู่ยังไงให้คิดบวก

ขณะที่รัฐบาลต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังระดมความพยายามเพื่อหยุดยั้ง วิกฤตโควิด-19 กันอยู่ แต่มีใครที่รู้สึกเหมือนโดนโจมตีด้วยข่าวแย่ๆ อยู่ตลอดเวลาไหม ซึ่งบางครั้งความตื่นตระหนกที่หวังดีจากเพื่อนหรือครอบครัวที่ระดมแชร์ข้อมูลกันบนไทม์ไลน์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ซึ่ง “สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น” ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและโซเชียลมีเดีย เพื่อขอคำแนะนำว่าจะอยู่บนโลกออนไลน์เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ได้อย่างไร และจะคิดบวกได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบด้วย

1.“คุมการเสพสื่อออนไลน์” หลายคนกำลังติดตามข่าวทุกอย่างที่โพสต์อยู่บนโซเชียลมีเดียจนขาดสติ สิ่งแรกที่ควรทำคือ การควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตเสียใหม่ ว่าอย่างไร ที่ไหน และเมื่อไร ที่เราจะบริโภคข่าว ซึ่งโดยปกติข่าวเชิงลบมักขายได้กว่าข่าวเชิงบวกอยู่แล้ว เราจึงเห็นข่าวเชิงลบเต็มไปหมด ยิ่งคนช่วยกันแชร์ มันก็ยิ่งโหมกระพือเป็นทวีคูณ ดังนั้น ทางที่ดีคือเลือกแหล่งข่าวน่าเชื่อถือแค่ 1-2 แห่งในการติดตาม และกำหนดเวลาเข้าไปดูที่เพจข่าวนั้นๆ แค่วันละ 1-2 ครั้งก็พอ

2.“Mute” บางอย่างสักระยะ ไม่ว่าจะเป็นคน เพจ หรือคำ โดยใช้ปุ่ม “Mute” และ “Unfollow” ได้ รอให้ผ่านวิกฤตแบบนี้ไปก่อนแล้วค่อยกลับมาตามใหม่ก็ยังได้ บางแพลตฟอร์ม เช่น ทวิตเตอร์ เราสามารถตั้งค่าให้บางคำที่เราไม่อยากเสพในช่วงนี้ อย่าง ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เป็น Mute ได้ แล้วถ้ายังไม่พอ ก็ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตั้งโปรแกรมให้เราออกจากแพลตฟอร์มที่เราใช้แค่บางช่วงเวลา หรือหาแอพพลิเคชั่นที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเราใช้เวลาออนไลน์ไปอย่างไร

3.“สร้างสรรค์สังคมดิจิทัล” บางทีอาจจะมีกลุ่มจิตอาสาที่ผุดขึ้นมาในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งเราสามารถร่วมมืออาสาไปกับพวกเขาได้ในแบบดิจิทัล (อาทิ กลุ่มสอนออกกำลังกายออนไลน์ กลุ่มคุณครูสอนออนไลน์ กลุ่มแจ้งจุดขายหน้ากากและเจล) แต่ถ้าหากกลุ่มพวกนี้ทำให้เรากังวลหรือเครียดก็หยุดหรือเลี่ยงได้ อีกวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยเยียวยาความโดดเดี่ยวคือการคอลและแชตกับคนที่เรารักแบบเห็นหน้า วิดีโอคอลคือทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะมันสามารถสื่อสารผ่านการแสดงออกทางสีหน้าได้ การพูดตลก แล้วเห็นสีหน้าอีกฝ่ายก่อนจะขำออกมา มันเพิ่มพลังบวกได้

4.“หาสิ่งจรรโลงใจ” หาหนังสนุกๆ ที่ไม่ใช่หนังเศร้าเคล้าดราม่ามาดู บนออนไลน์ยังมีคลังความรู้มากมายให้เราได้อัพสมองโดยไม่ต้องออกจากบ้าน หรือตั้งเป้าระยะยาวหลังจากผ่านช่วงเวลานี้ เพราะชีวิตยังต้องไปต่อและผ่านช่วงเวลานี้ (ลองดูประสบการณ์จากประเทศจีนที่เผชิญวิกฤตก่อนใครอย่างหนักแล้วผ่านมันไปอย่างรวดเร็วก่อนใครๆ เช่นกัน) ถ้าที่บ้านมีสวนก็ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ถ้าไม่มีก็เปิดหน้าต่างรับอากาศสดชื่นบ้าง ฟังเพลงออนไลน์ที่ทำให้สงบ ฝึกสมาธิ หรือออกกำลังกายที่ทำได้ในบ้าน อยู่กับปัจจุบัน แทนที่จะกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง