จับอีก! ลักลอบผลิต "สไบนางแช่ฟอร์มาลีน" ส่งขายร้านหมูกระทะ
กรมปศุสัตว์เ เข้าตรวจค้นสถานที่ลักลอบผลิตเนื้อสัตว์ใน อ.พานทอง จ.ชลบุรีที่ไม่ได้รับอนุญาต ซุกซ่อนเนื้อหมูไม่ทราบแหล่งที่มา ซ้ำยังใช้สารฟอร์มาลีนแช่สไบนางและหมึกกรอบ พบหลักฐานเป็นใบเสร็จที่ส่งจำหน่ายร้านหมูกระทะหลายแห่ง
วนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจด่านกักกันสัตว์ชลบุรีและปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี ร่วมกับปลัดอำเภอพานทอง สาธารณสุขอำเภอพานทอง และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีบุก เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารไม่มีเลขที่แห่งหนึ่งในตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง โดยตั้งอยู่บริเวณห่างจากชุมชน มีรั้วเมทัลชีทปิดทึบโดยรอบ โครงสร้างอาคารมีลักษณะแบบชั่วคราว
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสถานประกอบการไม่มีระบบบำบัดน้ำทิ้ง เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์พบชิ้นส่วนสุกรไม่ทราบแหล่งที่มา 544 กิโลกรัม อีกทั้งพบการแช่สไบนางและหมึกกรอบในถังผสมสารฟอร์มาลีน มีแกลลอนฟอร์มาลินขนาด 20 ลิตร จำนวนกว่า 20 แกลลอน นอกจากนี้พบหลักฐานเพิ่มเติมเป็นใบเสร็จที่แสดงรายชื่อลูกค้าและร้านหมูกระทะที่ส่งจำหน่ายเนื้อสัตว์
เจ้าหน้าที่จึงร่วมกันยึดอายัดสินค้าทั้งหมดเพื่อไม่ให้เคลื่อนย้าย พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโรคและสารตกค้าง ยึดแกลลอนฟอร์มาลีนและใบเสร็จที่แสดงรายชื่อลูกค้าไว้เป็นหลักฐานสำหรับประกอบในการดำเนินคดีเนื่องจากการดำเนินกิจการสถานประกอบการผลิตอาหารโดยไม่มีการขออนุญาต ไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์ (ร.10) ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์ (ร.3) และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ (รน.) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 จากนั้นจึงนำหลักฐานทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ. พานทองเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวต่อไปว่า การเข้าตรวจจับครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยประชาชนผู้บริโภคโดยสั่งการให้กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวัง ตรวจสอบแหล่งผลิตเนื้อสัตว์ที่อาจไม่ปลอดภัย มีความเสี่ยงจากสารปนเปื้อน เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และเชื้อโรคระบาดสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ได้ขยายผลตรวจสอบทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้เข้าตรวจจับและดำเนินคดีต่อผู้ประกอบกิจการสถานผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ซึ่งพบเนื้อสัตว์และเครื่องในไม่ทราบแหล่งที่มา ทั้งยังพบการใช้สารฟอร์มาลีน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในกระบวนการผลิต
กรมปศุสัตว์จะดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบแหล่งผลิตและสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ที่มีความเสี่ยงในการแพร่โรคระบาดสัตว์และไม่ปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริโภค อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลการกระทำความผิดกฎหมายด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มาและภาพจาก กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / TNN Online