รีเซต

'สาวไทยในจีน' ต่อยอดร้านอาหารไทยสู่ 'ธุรกิจคอสตูม'

'สาวไทยในจีน' ต่อยอดร้านอาหารไทยสู่ 'ธุรกิจคอสตูม'
Xinhua
13 กรกฎาคม 2564 ( 21:39 )
333

 

หนานหนิง, 13 ก.ค. (ซินหัว) -- "ฉันจำได้ว่าตอนที่มาหนานหนิงแรกๆ ยังไม่มีรถไฟใต้ดิน แต่ตอนนี้รถไฟใต้ดินสาย 5 กำลังจะเปิดแล้วหลังผ่านไปเพียงไม่กี่ปี" เมธินี หญิงไทยเจ้าของร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เผย

 

 

เมื่อปี 2010 เมธินี นันตาดี หรือเฉินเหม่ยนี จากจังหวัดลำปาง เดินทางมายังกว่างซีในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโท ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เธอได้เปลี่ยนจากผู้ที่ได้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนด้านต่างๆ ระหว่างจีน-อาเซียนมาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนดังกล่าว

 

 

เมธินีตัดสินใจอยู่ที่จีนหลังสำเร็จการศึกษา เนื่องจากสนใจในความก้าวหน้าและวัฒนธรรมจีน เธอเคยทำงานเป็นทั้งล่าม เลขานุการ และตัวแทนจัดซื้อ แม้ว่างานจะเป็นความสุขของเธอ แต่เธอมักคิดถึงอาหารบ้านเกิดอยู่บ่อยครั้ง

 

 

"ตอนมาเรียนครั้งแรก ที่นี่มีร้านอาหารไทยแค่ไม่กี่ร้าน หาอาหารไทยแท้ๆ กินได้ยาก แม้กระทั่งการหาซื้อวัตถุดิบมาทำเองก็ยากเหมือนกัน" เมธินีกล่าว ดังนั้นทุกครั้งหลังปิดเทอม เธอจึงขนอาหารจากไทยกลับมาที่นี่เสมอ

 

 

หนานหนิงกลายเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจและการค้า สืบเนื่องจากความก้าวหน้าของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ทำให้เพื่อนพ้องจากอาเซียนหลายคนเดินทางมาศึกษาและทำธุรกิจที่นี่ เมธินีจึงตัดสินใจเริ่มเปิดธุรกิจร้านอาหารร่วมกับเพื่อนๆ

 

 

เดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เริ่มระบาดรุนแรงขึ้น เป็นช่วงที่ร้านอาหารของเธอเริ่มเปิดกิจการ "โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร แต่ฉันว่าทุกวิกฤตมีโอกาส และร้านของเรายังคงมีตลาดที่ค่อนข้างกว้าง"

(แฟ้มภาพซินหัว : บรรยากาศในร้านอาหารของเมธินี)[/caption]

ร้านอาหารของเมธินีตกแต่งแบบไทยสไตล์ โดยใช้สีทองและสีดำเป็นหลัก บวกกับภาชนะที่เธอใช้ล้วนให้ความรู้สึกราวกับอยู่เมืองไทย ขณะที่เบียร์และชานมจากไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า

 

 

"เรามีลูกค้าประจำเยอะมาก เพราะทำอาหารตำรับไทยแท้ เช่น ต้มยำกุ้ง เล้งแซ่บภูเขาไฟ ไก่ย่างตะไคร้ ซึ่งล้วนเป็นเมนูเด็ดของเรา" เมธินีให้สัมภาษณ์เป็นภาษาจีนอย่างคล่องแคล่ว

 

 

นอกจากอาหารไทยแล้ว เธอยังเล็งเห็นโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ทันทีที่เธอเห็นว่าลูกค้าหลายคนมักให้ความสนใจกับชุดไทยที่เธอสวมใส่ เธอจึงตัดสินใจเปิดธุรกิจชุดแต่งกายบนชั้นสองของร้าน เพื่อให้ลูกค้าสามารถมานั่งจิบชายามบ่าย พูดคุย พร้อมกับถ่ายรูปในชุดไทย

 

เมธินีนำเข้าชุดไทยโบราณราว 300 ชุด และเครื่องประดับอื่นๆ จากไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ท่ามกลางธุรกิจชุดแต่งกายที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่กำลังไปได้สวยด้วยรายได้สูงสุดมากกว่า 300,000 หยวน (ราว 1.5 ล้านบาท) ต่อเดือน โดยกลุ่มลูกค้ามีทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคน และวัยรุ่น

 

 

หนานหนิงเป็นสถานที่จัดงานถาวรของงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หลายประเทศอาเซียนมีสถานกงสุลตั้งอยู่ที่นี่ ซึ่งพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกๆ วัน

 

 

"ผู้ประกอบการอาเซียนหลายรายมาลงทุนที่หนานหนิง เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ฉันหวังว่าร้านอาหารของเราจะมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย" เมธินีกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง