รีเซต

เรือเหาะหุ้มโซลาร์เซลล์ทั้งลำ ทดสอบบินสำเร็จ เป้าหมายปล่อยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

เรือเหาะหุ้มโซลาร์เซลล์ทั้งลำ ทดสอบบินสำเร็จ เป้าหมายปล่อยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2567 ( 14:59 )
12
เรือเหาะหุ้มโซลาร์เซลล์ทั้งลำ ทดสอบบินสำเร็จ เป้าหมายปล่อยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

บริษัทด้านอวกาศในรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าง สกาย (Sceye) ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินครั้งล่าสุดของอากาศยานในชื่อ สกาย แฮปส์ (Sceye HAPS) โดยทดสอบทำการขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เป้าหมายคือเพื่อปล่อยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้



รูปลักษณ์และเทคโนโลยีของ Sceye HAPS

สกาย แฮปส์ (Sceye HAPS)  ย่อมาจาก ไฮ แอตติจูด แพลตฟอร์ม สเตชัน (High-Altitude Platform Station) เป็นอากาศยานไร้คนขับ รูปทรงรี มีความยาว 65 เมตร อากาศยานทั้งลำ ถูกห่อหุ้มด้วยโซลาร์เซลล์ที่ถูกดัดแปลงเป็นฟอยด์สีเงินเรียกว่า โซลาร์ เคป (Solar Cape) สร้างจากแกเลียมเซเลไนด์ (Gallium Selenide) และแกเลียมอาร์เซไนด์ (Gallium Arsenide) ซึ่งทั้ง 2 เป็นวัสดุที่มีความสามารถสูงในการแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ภายในอากาศยานบรรทุกแก๊สฮีเลียม ซึ่งเป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศ ช่วยในการลอยตัวและใช้พลังงานน้อยลง


บนอากาศยานมีการติดตั้งเสาอากาศ 4G เพื่อควบคุมการรับส่งข้อมูล ส่วนเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายใน 4G ใช้เทคโนโลยี LTE (Long-Term Evolution) สถาปัตยกรรมโอเพนแรน (OpenRAN) ที่กระจายสัญญาณได้ประมาณ 140 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ากระจายได้ไกลกว่าเทคโนโลยี LTE ทั่วไปที่กระจายได้ไกลประมาณ 100 กิโลเมตร ความสามารถนี้ก็เกิดขึ้นมาจากการติดตั้งเทคโนโลยีที่เรียกว่า บีม ฟอร์มมิง (Beam-Forming Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการบังคับทิศทางของสัญญาณ ทำให้สัญญาณไม่กระจาย และพุ่งเป้าไปยังจุดที่ต้องการได้ดี


Sceye HAPS ถูกออกแบบมาเพื่อให้บินขึ้นลงในแนวตั้ง โดยจะลอยขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ที่ความสูงประมาณ 18,300 - 19,800 เมตร เหนือการจราจรทางอากาศปกติที่เครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปจะบินอยู่ที่ชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ที่ความสูงประมาณ 9,100 - 12,200 เมตร จากนั้น Sceye HAPS จะลอยนิ่งอยู่กับที่ในระดับความสูงและตำแหน่งที่กำหนด 


บริษัทเปิดเผยว่า Sceye HAPS สามารถลอยอยู่กลางอากาศได้นานหลายเดือนเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่พื้นที่ห่างไกล และขณะเดียวกันก็สามารถทำงานอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ตรวจสอบสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และเฝ้าระวังไฟป่าหรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ



การทดสอบบินครั้งล่าสุด

Sceye HAPS ขึ้นบินครั้งแรกในปี 2021 และนับจากนั้นก็ได้ทดสอบบินมาแล้วกว่า 20 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2024 อากาศยานถูกปล่อยจากโรงงานของบริษัทในรัฐนิวเม็กซิโกเมื่อเวลา 07.36 น. และลงจอดในวันที่ 16 สิงหาคม 2024 เวลา 12.21 น. ตามเวลาท้องถิ่น 


โดยอากาศยานบินลอยขึ้นไปยังความสูง 18,600 เมตร และความสามารถที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบครั้งล่าสุดคือ อากาศยานสามารถชาร์จพลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าไปยังแบตเตอรี่ได้ และจ่ายออกมาเพื่อให้อากาศยานลอยนิ่งอยู่กับที่ได้ตลอดทั้งคืน รวมถึงอากาศยานยังสามารถควบคุมให้อยู่นิ่งกับที่ หรือย้ายไปยังพื้นที่อื่นได้ตามต้องการ


เป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

Sceye HAPS ถือเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ของรัฐนิวเม็กซิโกที่กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ชนเผ่าอินเดียนแดงนาวาโฮ (Navajo Nation) ซึ่งอาศัยอยู่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐแอริโซนา ตะวันออกเฉียงใต้รัฐยูทาห์ และตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก นอกจากนี้อากาศยานลำนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปที่การติดตามและวัดการปล่อยแก๊สมีเทน


ในอนาคต Sceye จะเดินหน้าทดสอบและพัฒนา Sceye HAPS ต่อไป โดยจะมีการทดสอบบินอีก 2 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ ส่วนการเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ บริษัทตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2025 





ที่มาข้อมูล NewAtlas

ที่มารูปภาพ Sceye

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง