รีเซต

ตายแล้วไปไหน ? ไปเป็นปุ๋ยช่วยโลกด้วยโลงศพรักษ์โลก

ตายแล้วไปไหน ? ไปเป็นปุ๋ยช่วยโลกด้วยโลงศพรักษ์โลก
TNN ช่อง16
13 มิถุนายน 2566 ( 12:30 )
99
ตายแล้วไปไหน ? ไปเป็นปุ๋ยช่วยโลกด้วยโลงศพรักษ์โลก

หากพูดถึงธุรกิจโลงศพ สิ่งแรก ๆ ที่นึกถึงย่อมหนีไม่พ้นความตายและการสูญเสียคนที่เรารัก ทว่าวิธีการจัดการศพแบบต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเผาหรือฝังศพ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดมลพิษ คงจะดีกว่าไม่น้อยเลย หากเราสามารถทิ้งสิ่งดี ๆ ไว้เบื้องหลังให้แก่โลก ยามลมหายใจดับไป 


และแนวคิดนี้จุดประกายให้ ลอนเนเก้ เวสต์โธฟฟ์ (Lonneke Westhoff) และ บ็อบ เฮนดริคซ์ (Bob Hendrikx) เปิดตัวธุรกิจโลงศพรักษ์โลก ลูป ไบโอเทค (Loop Biotech) บริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีชีวภาพและธุรกิจโลงศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2020 โดยตั้งใจสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกช่วยให้มนุษยชาติกลับเป็นหนึ่งวัฏจักรชีวิตในธรรมชาติอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ


มีโลงแบบไหนให้เลือกบ้าง ? 

ในปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์โลงศพรักษ์โลกให้เลือกมากกว่า 3 แบบอย่าง “โลงศพมีชีวิต” “โกศกระดูกปลูกต้นไม้” และ “เตียงศพเปิดรักษ์โลก” ไปจนถึงโลงศพรักษ์โลกที่ลูกค้าออกแบบตกแต่งได้ตามใจชอบ !


โดยตัว “โลงศพมีชีวิต” หรือ ลูป ลีฟวิง โคคูน คอฟฟิน (Loop Living Cocoon Coffin) เป็นโลงศพรูปวงรีทรงมนยาว ๆ ต่างจากโลงศพทรงสี่เหลี่ยมทั่วไป และไม่มีลวดลายตกแต่งเหมือนโลงศพในบ้านเรา ภายในมีพืชมอสส์นุ่ม ๆ รองรับร่างแทนเตียงผ้า เพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ โดยทางลูป ไบโอเทคระบุว่ารูปทรงมนไร้มุมแบบนี้ดูกลมกลืนธรรมชาติมากกว่า 



ภาพจาก Loop Biotech

 

ส่วน “โกศกระดูกปลูกต้นไม้” หรือ ลูป เอิร์ธไรส์ (Loop EarthRise) เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการให้เผาร่าง ก่อนจะนำกระดูกหรืออัฐิมาเก็บไว้ ซึ่งตัวโกศกระดูกมีความพิเศษตรงที่จะเริ่มย่อยสภาพก็ต่อเมื่อนำไปฝังเท่านั้น หากวางไว้เฉย ๆ ญาติสามารถเก็บตัวโกศและอัฐิไว้ดูต่างหน้าได้เหมือนโกศทั่วไป นอกจากนี้ ฝาด้านบนโกศยังมีช่องสำหรับปลูกต้นไม้ เพิ่มความใกล้ชิดกับธรรมชาติให้กับโกศกระดูกรักษ์โลกอีกด้วย 


ภาพจาก Loop Biotech

 

และ “เตียงศพเปิดรักษ์โลก” หรือ ลูป ฟอเรสต์เบด (Loop ForestBed) คือโลงศพแบบไร้ฝาโลง มีรูปทรงคล้ายเตียง มาพร้อมกับผ้าห่อศพซึ่งย่อยสลายได้ เหมาะกับผู้ที่ไม่สะดวกใจกับโลงที่มีฝาปิด หรือมองว่าโลงแบบปิดทึบดูอึดอัดเกินไป โดยบริษัทระบุว่า เตียงรักษ์โลกรองรับน้ำหนักได้มากถึง 200 กิโลกรัม และมาพร้อมกับหูจับ 6 ข้าง ใช้เคลื่อนย้ายร่างในพิธีศพแบบต่าง ๆ ได้ 



ภาพจาก Loop Biotech

 


หากใครยังไม่ถูกใจโลงทั้งสามแบบ ทางลูป ไบโอเทคมีบริการออกแบบโลงศพเอง ซึ่งเลือกสีสันโลง ผ้าห่อร่าง และต้นไม้ตกแต่งได้ตามใจชอบ ซึ่งของตกแต่งทุกอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติคงคอนเซปต์โลงศพรักษ์โลกทุกประการ



โลงศพรักษ์โลกทำจากอะไร ? 

โลงศพรักษ์โลกจากบริษัทลูป ไบโอเทค เกิดจากเส้นใยกัญชงรีไซเคิลและไมซีเลียม (Mycelium) ซึ่งเป็นเส้นใยจากเห็ดรา ขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการนำส่วนผสมทั้งสองผสมกันแล้วใส่ลงไปในแม่พิมพ์ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ไมลีเซียมจะเติบโตเป็นรูปร่างตามต้องการ ก่อนจะนำตัวโลงไปตากให้แห้งสนิท กลายเป็นโลงศพรักษ์โลกพร้อมใช้งาน 


โดยเฮนดริคซ์อธิบายว่า โลงศพสามารถเก็บไว้ได้เรื่อย ๆ หากเก็บไว้ในพื้นที่แห้ง มีอากาศถ่ายเท แต่ถ้าวางไว้ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้น หรือเปียกน้ำ โลงศพรักษ์โลกจะย่อยสลายตามธรรมชาติภายใน 45 วัน ใช้ได้ทั้งกับการฝังศพทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเผาศพหรือการฝัง เมื่อโลงศพย่อยสลายแล้ว ศพจะแปรสภาพเป็นปุ๋ย กลายเป็นแหล่งอาหารให้กับต้นไม้ต่อไป นอกจากนี้ หากลูกค้ารายไหนต้องการให้ปลูกต้นไม้บนโลงแทนป้ายหลุมศพก็ทำได้ด้วยเช่นกัน 



ทำไมจึงใช้ไมซีเลียม ?

เว็บไซต์ลูป ไบโอเทคอธิบายว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากความสามารถอันน่าทึ่งของไมซีเลียม หรือ เห็ดรา ซึ่งเป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ มีหน้าที่เปลี่ยน "สารอินทรีย์" ในซากพืชซากสัตว์ให้เน่าเปื่อยกลายเป็น "ารออินทรีย์และแร่ธาตุต่าง ๆ" ซึ่งพืชดูดซึมนำไปใช้ได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงเลือกไมซีเลียมมาผลิตเป็นโลงศพ เพื่อช่วยให้มนุษยชาติสร้างประโยชน์ให้กับธรรมชาติได้อีกครั้ง  


ราคาเท่าไหร่ ?

โลงศพรักษ์โลกมีราคาประมาณ 695 ยูโรถึง 995 ยูโร (ประมาณ 25,000 ถึง 37,000 บาท) เทียบกับโลงศพทั่วไปถือว่ายังราคาค่อนข้างสูง แต่โลงศพรักษ์โลกนี้นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการจากโลกนี้ไปอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อหยุดวงจรการสร้างมลพิษจากการจัดพิธีศพ


มีประโยชน์แถมยังรักษ์โลก “มากกว่า"

ทุกคนคงทราบดีว่าการเผาศพก่อให้มลพิษเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นควัน และสารโลหะหนักจากสีที่ใช้ตกแต่งโลง


ส่วนการฝังศพอาจจะฟังดูรักษ์โลกมากกว่าการเผา แต่ความจริงแล้วก็สร้างมลพิษไม่แพ้กัน เพราะการฝังด้วยโลงศพแบบดั้งเดิมต้องใช้เวลาหลายปีกว่าตัวโลงจะย่อยสลาย อีกทั้งวัสดุที่ใช้ผลิตโลงเช่น ไม้หรือเหล็ก และสารเคมีต่าง ๆ เช่น โลหะหนัก และฟอร์มาลีนหรือน้ำดองศพ ล้วนส่งผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดสารพิษปนเปื้อนในดิน ดังนั้นด้วยวัสดุการผลิตโลงศพแบบรักษ์โลกนี้ ทางทีมจึงคิดว่าจะช่วยลดมลพิษจากการย่อยสลายของโลกศพและกลายเป็นปุ๋ยดินที่สร้างประโยชน์ได้มากกว่านั่นเอง


“เมื่อเราจากโลกนี้ไป… เราควรจะทิ้งประโยชน์ไว้ให้กับโลก แทนที่จะสร้างมลพิษทิ้งท้าย” เฮนดริคซ์กล่าว 


ขณะนี้โลงศพรักษ์จากบริษัทลูป ไบโอเทคมีวางจำหน่ายในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในอนาคต บริษัทคาดว่าจะขยายบริการโลงศพรักษ์โลกนี้ไปทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนหวนคืนสู่ธรรมชาติ โดยทิ้งมลพิษไว้เบื้องหลังให้น้อยที่สุด


ที่มาข้อมูลและภาพ Greenmatters, Loop Biotech, USAtoday

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง