รีเซต

ศบค.เผยผู้ป่วยโควิดรักษาอื้อ 5.4 หมื่นราย โคม่าทะลุ 2 พันราย ทุก 10 รายที่ใส่ท่อหายใจ จะเสียชีวิต 2 ราย

ศบค.เผยผู้ป่วยโควิดรักษาอื้อ 5.4 หมื่นราย โคม่าทะลุ 2 พันราย ทุก 10 รายที่ใส่ท่อหายใจ จะเสียชีวิต 2 ราย
มติชน
2 กรกฎาคม 2564 ( 14:12 )
48

 

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันที่ประเทศไทยพบตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 6,087 ราย และผู้เสียชีวิต 61 ราย สะสม 2,141 ราย ส่วนผู้รักษาหายกลับบ้าน 3,638 ราย เหลือที่รักษาอยู่ 54,440 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล (รพ.) 26,025 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 28,415 ราย เป็นผู้มีอาการหนัก 2,002 ราย ในจำนวนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจ 579 ราย

 

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตตัวเลขใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) 28 ราย ซึ่งมีการสรุปข้อมูลผู้เสียชีวิต พบว่า ผู้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากถึง 70% และจำนวนนี้มีโรคประจำตัวหลักคือความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง จากการสรุปข้อมูลผู้เสียชีวิต พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นการสูญเสียบุคลากร ดังนั้น ขอเน้นย้ำว่าหากท่านไปรับบริการสาธารณสุข ขอความกรุณาอย่าปกปิดข้อมูล เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากร

 

 

“ในจำนวนผู้ป่วย 100 ราย เราจะพบว่า 5% หรือ 5 รายมีอาการปอดติดเชื้อ หรืออาการหนัก และในจำนวนนี้จะมีประมาณ 2.5 รายที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในอัตราผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย จะมีตัวเลข 1-2 รายที่เสียชีวิต ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องวางแผนมาตรการจัดการเตียง มาตรการเพิ่มศักยภาพเตียงในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง เพราะหากเป็นผู้สูงอายุ หรือ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ก็มีความเสี่ยงเสียชีวิตค่อนข้างสูง นโยบายสำคัญในเดือน ก.ค.จึงต้องเพิ่มเตียงและระดมฉีดวัคซีน” พญ.อภิสมัยกล่าว

 

 

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า วันนี้เรายังพบผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย มาจากเมียนมา 1 ราย โดยเข้ามาทาง อ.แม่สอด จ.ตาก เดินทางมาจากกัมพูชาอีก 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 76 ปี เข้ามาทาง จ.จันทบุรี ซึ่งยังต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ต่อเนื่อง

 

 

อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่า กทม.มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 39% ปริมณฑล 25% ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะอยู่ที่ 64% ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับ 71 จังหวัด ส่วนการรายงานผู้เดินทางจาก กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ เดินทางข้ามพื้นที่ออกไปทำให้จังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อมานาน หรือมีการติดเชื้อต่ำก็เพิ่มมากขึ้น รวมแล้ว 34 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 16 รายใน 5 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 147 รายใน 15 จังหวัด, ภาคกลางและตะวันตก 26 รายใน 8 จังหวัด และภาคใต้ 13 รายใน 6 จังหวัด

 

 

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด 10 จังหวัด คือ กทม. 2,267 ราย ซึ่งเกิดจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนประมาณ 1 พันราย สมุทรปราการ 522 ราย นนทบุรี 327 ราย สมุทรสาคร 289 ราย ปทุมธานี 284 ราย ชลบุรี 222 ราย ยะลา 201 ราย ปัตตานี 169 ราย สงขลา 167 ราย และ นราธิวาส 124 ราย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง