รีเซต

ยุโรป-แคนาดา แบนสินค้าสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อ อเมริกาโน่ เป็น คานาดิอาโน่ l การตลาดเงินล้าน

ยุโรป-แคนาดา แบนสินค้าสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อ อเมริกาโน่ เป็น คานาดิอาโน่ l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
2 พฤษภาคม 2568 ( 23:34 )
12

การสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจความคาดหวังของผู้บริโภคในยุโรปครั้งล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี (ECB) ที่ถามผู้ตอบแบบสำรวจว่า พวกเขาจะตอบสนองต่อภาษีศุลกากรในระดับต่าง ๆ อย่างไร รวมถึงในกรณีที่สหภาพยุโรปมีการตอบโต้ในอัตราภาษีที่เท่าเทียมกันด้วย

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ ตอบว่า เต็มใจอย่างยิ่ง ที่จะหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่สินค้าของสหรัฐฯ ด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 80 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งหมายถึงเต็มใจมากที่สุด

ทั้งพบด้วยว่า ความเต็มใจที่จะเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่นนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ราคา มักจะเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้า

ทำให้เชื่อว่า การตอบสนองของผู้บริโภคต่อการขึ้นภาษี อาจไม่ใช่ผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แต่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและแบรนด์ โดยผู้บริโภคอาจลดความสนใจในสินค้าจากสหรัฐฯ และหันไปเลือกซื้อสินค้าจากที่อื่นแทน 

รวมทั้งมีการตอบสนองต่อการขึ้นภาษีในทันที โดยผู้บริโภคจะเริ่มพิจารณาสิ่งที่พวกเขาจะซื้อ แบบไม่ต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคาก่อนเลย

นอกจากนี้ อีซีบี ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า มีการสำรวจที่คล้ายคลึงกันนี้ในสหรัฐฯ แต่ผลสำรวจที่ออกมาแตกต่างกัน โดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่างต้องการที่จะกักตุนสินค้า ที่คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น 

ด้านสำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานว่า ผลสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสต่อต้านทั่วโลก ต่อนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งในยุโรป ผู้บริโภคมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนแนะนำเกี่ยวกับสินค้าที่จะมาทดแทนผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ ได้

โดยหนึ่งในสินค้าแบรนด์สหรัฐฯ ที่เห็นผลกระทบชัดเจนแล้ว เช่น รถ เทสลา ที่พบว่ายอดขายในช่วง 2 เดือนแรกของปีในภูมิภาคยุโรป ลดลงไปถึงร้อยละ 43 ซึ่งสวนทางกับ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมที่เติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 30

ทั้งนี้ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ที่มีกระแสคว่ำบาตรสินค้าจากสหรัฐ เช่น สวีเดน ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก กว่า 70,000 ราย เรียกร้องให้เลิกซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ รวมไปถึงเลิกใช้ เฟซบุ๊ก ด้วย พร้อมกับนำเสนอสินค้าทางเลือกอื่น ๆ แทนสินค้าอุปโภคบริโภคของสหรัฐฯ

โดยผู้ใช้รายหนึ่ง เขียนข้อความว่า มีความตั้งใจจะเปลี่ยน หรือเลิกซื้อสินค้าของสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากหลาย ๆ คนทำในแบบเดียวกันนี้ได้ ก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานได้อย่างชัดเจน

ที่เดนมาร์ก เอง มีกระแสความโกรธแค้นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับภัยคุกคามของทรัมป์ ที่จะนำกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ ทำให้ บริษัทขายของชำที่ใหญ่ที่สุดอย่างกลุ่ม Salling (แซลลิง) บอกว่า จะติดดาวสีดำบนสินค้าที่ผลิตในยุโรป เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้น แทนการซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ

ส่วนที่ประเทศแคนาดา ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า ไม่เพียงแต่ทำให้ มาร์ค คาร์นีย์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของแคนาดา ได้เท่านั้น แต่ยังมีการรณรงค์ในระดับประเทศ ให้ซื้อสินค้าจากภายในประเทศแทนที่จะเลือกซื้อสินค้าทางเลือกจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็หมายถึง สหรัฐอเมริกา นั่นเอง 

โดยที่แคนาดา มีการปลุกกระแสรักชาติเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการตอบโต้ กำแพงภาษีที่เป็นการทำลายความไว้วางใจระหว่าง 2 ประเทศ และมีการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

ที่ร้านกาแฟ บัลซัค คอฟฟี่ โรสเตอร์ (Balzac’s Coffee Roasters) ซึ่งเป็นเชนร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในเมืองออนแทริโอ และโตรอนโต ได้ตอบสนองต่อความตึงเครียดทางการค้า ด้วยการเปลี่ยนชื่อเมนูเครื่องดื่มกาแฟ จากเดิม อเมริกาโน่ ก็เปลี่ยนเป็น คานาดิอาโน่ (Canadiano) และติดตราสัญลักษณ์ ใบเมเปิล (ธงชาติ) อีกด้วย

ร้านแกรม พิซซ่า (Gram's Pizza) ในโตรอนโต ก็ประกาศจะเลิกใช้ส่วนผสมที่ทำจากสหรัฐฯ

ส่วน ยัวร์ อินดีเพนเดนต์ โกรเซอร์ส (Your Independent Grocers) เชนซูเปอร์มาร์เก็ตอิสระภายใต้บริษัท ล็อบโลว์ คอมพานีส์ (Loblaw Companies) พบว่า มีการติดป้ายและใช้ตราสัญลักษณ์รูปใบเมเปิล เพื่อระบุให้ลูกค้ารู้ว่าสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์นี้ เป็นสินค้าที่ผลิต หรือแปรรูปในแคนาดา ร้านขายของชำรายนี้ ยังระบุสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรไว้ด้วยโลโก้ตัว T (ที) ทั้งภายในร้านค้า และบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 

นอกจากนี้ การสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แคนาดา ยังมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ด้วย

ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดา เป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยปี 2024 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน รวมกว่า 762,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตามข้อมูลของ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า แคนาดาส่งออกสินค้ากว่า 3 ใน 4 ไปยังสหรัฐฯ ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าทั้งหมด

แต่ความเป็นพันธมิตรก็ถูกทำลายลง โดย โครีนน์ โพลแมนน์ (Corinne Pohlmann) รองประธานบริหารฝ่ายสนับสนุนของ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งแคนาดา (Canadian Federation of Independent Business) กล่าวว่า ความตึงเครียดทางการค้าได้ขยายไปสู่ความสัมพันธ์ระยะยาว ระหว่างธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ และแคนาดา แล้ว ซึ่งผลสำรวจสมาชิกเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาพบว่า มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแคนาดาเพิ่มมากขึ้น 

และธุรกิจที่ทำการสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง เห็นด้วยว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่พันธมิตรทางการค้าที่เชื่อถือได้อีกต่อไป

เขาบอกอีกว่า ภาษีศุลกากรทำให้เกิดความทุกข์ทางอารมณ์ นอกเหนือไปจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสำหรับชาวแคนาดาจำนวนมาก รู้สึกเหมือนเป็นการทรยศกัน และแม้ว่าจะยินดี หากมีการผ่อนผันภาษีศุลกากรอย่างถาวร แต่เชื่อว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างแคนาดา และสหรัฐฯ ก็ได้แตกหัก และอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะความไว้วางใจในถูกทำลายลงไปแล้ว 

ส่วนคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่ง ออนแทริโอ ก็ได้ระงับการซื้อผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม และร้านค้าปลีกอย่าง แอลซีบีโอ (LCBO) ในเมืองไนแองการา-ออน-เดอะ-เลค (Niagara-on-the-Lake) ได้ติดป้ายข้อความว่า "เพื่อประโยชน์ของออนแทริโอ เพื่อประโยชน์ของแคนาดา" ซึ่งเป็นการอธิบายต่อลูกค้า ถึงการหายไปของผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ เช่น ไวน์ และวอดก้า เป็นต้น

และนอกจากตัวสินค้าแล้ว อิทธิพลของสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า ซอฟต์ พาวเวอร์ ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

โดย แอนโธนี บลิงเคน (Antony Blinken) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวกับ ซีเอ็นบีซี ว่า ผลกระทบต่อ ซอฟท์ พาวเวอร์ ของประเทศถือเป็นความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน  ขณะที่จีน กำลังพยายามพัฒนา ซอฟต์ พาวเวอร์ ของตนเองให้มากขึ้น แต่เรา (สหรัฐอเมริกา) กลับทำให้มันลดลงด้วยตัวเราเอง ถือว่าไม่เป็นผลดีสำหรับประเทศ และไม่ดีสำหรับประโยชน์ของสหรัฐฯ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง