อย.เตือนภัยร้าย "ยาเสียสาว" โดนแล้วอาการเป็นอย่างไร
วันนี้ (10 พ.ค.65) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โพสต์เตือนภัยร้ายสังคม "ยาเสียสาว" โดยระบุว่า หลายคนอาจจะเคยได้ยินถึงชื่อ ยาเสียสาว มาก่อน แต่ไม่รู้ว่าหมายถึงยาใด หรือยังไม่เข้าใจว่ามีอันตรายมากน้อยเพียงใด
"ยาเสียสาว" ในที่นี้ คือ สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ประสงค์ร้ายแอบลักลอบใช้กับเหยื่อ หวังก่ออาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อรูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยมักใช้สารเคมี ดังต่อไปนี้
- ยามิดาโซแลม (Midazolam) หรือชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum)
- ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
- ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam) หรือชื่อการค้า โรฮิบนอล (Rohypnol)
- สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)
- ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine)
ภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
คุณสมบัติที่ทำให้ยาเหล่านี้ถูกนำใช้ในทางที่ผิด
1.ผลของยาที่ทำให้เกิดอาการมึนงง ง่วงซึม ไม่มีสติ หรือสลบไปได้ รวมถึงยาบางตัวมีฤทธิ์คลายกังวล หรือทำให้รู้สึกเคลิ้มสุขคล้ายการดื่มแอลกอฮอล์
2.ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว ไม่เกิน 30 นาที หลังจากรับประทานยา
3.สามารถละลายได้ดีในน้ำ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป ซึ่งหากใส่ไปในเครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาเหล่านี้
4.มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ จึงอาจทำให้เหยื่อไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ยาเหล่านี้อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตหากใช้เกินขนาด เนื่องจากมีฤทธิ์การกดการหายใจ จนเกิดอาการโคม่าเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราควรระมัดระวังตัว และเรียนรู้วิธีการที่จะป้องกันตนเอง ไม่ดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานที่ไม่น่าไว้วางใจ
ภาพยาอัลปราโซแลม จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โดน "ยาเสียสาว" จะมีอาการอย่างไร?
อาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจได้รับสารเหล่านี้ ดังนี้ อาการคลื่นไส้อาเจียน มึนงง เดินเซ หายใจลำบาก มีอาการคล้ายเมาสุรา แม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มไปเพียงเล็กน้อยจริง ๆ
วิธีการป้องกัน
ไม่ดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม สารอันตรายดังกล่าวนั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่มีการควบคุมการซื้อขาย แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบนำมาขายผิดกฎหมายโดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต หากพบเห็นมาช่วยกันแจ้งเบาะแสกับทาง อย. ได้ที่สายด่วน อย. 1556
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE