ดวงตาจักรวาลจีน 'ฟาสต์' พบ 'พัลซาร์' ใหม่ 500 ดวง
กุ้ยหยาง, 16 ธ.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์จีนใช้ฟาสต์ (FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ดวงตาจักรวาลจีน" ตรวจจับพัลซาร์ (pulsar) ใหม่ได้ 500 ดวง นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการทดลองในเดือนตุลาคม 2017
พัลซาร์คือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวด้วยความเร็วสูง มีต้นกำเนิดมาจากแกนกลางที่ระเบิดอยู่ภายในของดาวฤกษ์มวลสูงที่กำลังจะตายผ่านการระเบิดของซูเปอร์โนวา โดยความหนาแน่นสูงและการหมุนที่รวดเร็วของพัลซาร์ ทำให้มันเหมาะสม อย่างยิ่งสำหรับการศึกษากฎแห่งฟิสิกส์ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง
หลี่ตี้ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์ฟาสต์และนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ (NAO) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) กล่าวว่ากล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับการระเบิดอิสระทั้งหมด 1,652 ครั้งจากสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันที่เกิดซ้ำ (FRB) รหัสเอฟอาร์บี121102 (FRB121102)
การตรวจจับดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สัญญาณวิทยุแบบฉับพลันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยตรวจจับได้ในประวัติศาสตร์ โดยการตรวจจับเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อเดือนตุลาคม และเหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งนี้อาจช่วยชี้แจงต้นกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า "สัญญาณลึกลับจากห้วงอวกาศ"
หลี่กล่าวว่าหอสังเกตการณ์ฯ ได้รับใบคำขอสังเกตการณ์ประมาณ 200 รายการ จาก 16 ประเทศ นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์เปิดตัวสู่โลกอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ตั้งอยู่ในภูมิประเทศแบบคาสต์ที่ถูกกัดกร่อนเป็นแอ่งกลมลึกซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และได้ชื่อว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ตอบสนองเร็วที่สุดในโลก เริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2020