รีเซต

ทิศทางปรับครม.เศรษฐกิจ

ทิศทางปรับครม.เศรษฐกิจ
ข่าวสด
5 กรกฎาคม 2563 ( 11:36 )
110
ทิศทางปรับครม.เศรษฐกิจ

 

หมายเหตุ - จากกระแสกดดันของพรรคพลังประชารัฐ ให้เปลี่ยนม้ากลางศึก ปรับครม.โดยพุ่งเป้าโละทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นั้น นักวิชาการได้วิเคราะห์มุมมองและทิศทางการปรับครม. รวมถึงสถานการณ์ขณะนี้สมควรปรับครม.หรือไม่ จะส่งผลให้การทำงานของรัฐบาล รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศอย่างไร

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทย

 

ปัญหาโควิด-19 ส่งผลรุนแรงกับภาคประชาชนคือปัญหาเศรษฐกิจ จึงมุ่งที่การปรับครม.เศรษฐกิจ คือปรับทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แต่เศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าครม.ใหม่จะเป็นขาขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น

 

นายสมคิดและทีมได้รับการยอมรับว่ามีความชำนาญและเชี่ยวชาญ แต่บางคนตั้งประเด็นว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ หากปรับครม.เศรษฐกิจเพื่อจะเอามิติใหม่เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นหลักการที่ปรับได้ ไม่ได้หมายความว่าทีมเศรษฐกิจชุดนี้มีปัญหาหรือทำไม่ดี แต่เพื่อให้การทำงานมีมุมมองใหม่ ๆ

 

ฉะนั้น เปลี่ยนได้ แต่ปัญหาอยู่ว่าเปลี่ยนแล้วดีกว่าเดิมจริงหรือเปล่า และเปลี่ยนแล้วการทำงานจะเป็นเอกภาพจริงหรือไม่ เพราะถ้าทีมเศรษฐกิจนี้อยู่ มันจะประดักประเดิดมาก เพราะจุดเริ่มต้นของพลังประชารัฐ คือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคซึ่งก็คือทีมเศรษฐกิจ และหัวหน้าพรรคกับเลขาธิการพรรคเดิมก็ไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค ชี้ว่าเป็นความขัดแย้งภายในพรรค และขัดแย้งในเชิงของตัวบุคคล

 

ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่ดีกว่าเดิม เศรษฐกิจที่ดีๆ อยู่ จะยิ่งทรุดหนัก แต่ถ้าปรับแล้วเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม ทำแล้วเกิดความเชื่อมั่นว่าไม่ต่างจากชุดเดิม หรือดีกว่า ทำงานออกมาราบรื่น ประสานกระทรวงได้มากกว่า เพราะสิ่งที่เริ่มต้น นายสมคิดบอกว่าไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มได้บางส่วน จึงไม่สามารถคุมในส่วนของประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยได้ก็แสดงว่าทีมเศรษฐกิจไม่เป็นเอกภาพ เพราะเป็นการยอมรับของนายสมคิดเอง ถ้าสมมติว่าทีมเศรษฐกิจใหม่เป็นเอกภาพ มิติการทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิ

 

ถ้าเปลี่ยนตัวช่วงนี้จะทำให้งานเดิมสะดุด ไม่ลื่นไหลนั้น ผมมองว่ามันอยู่ที่ตัวบุคคล และบุคคลที่เข้ามานั้นเป็นที่ยอมรับของสังคม ยอมรับของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ เป็นที่ยอมรับของพรรค จะทำให้การทำงานในเชิงทีมเศรษฐกิจทำงานแบบบูรณาการเป็นทีม ดังนั้น อยู่ที่ถ้าไม่ปรับคนอยู่ปัจจุบันสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ หรือถ้าปรับแล้วคนใหม่สร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ ซึ่งมันอยู่ที่ผล ไม่ได้อยู่ที่เหตุ

 

ดังนั้น การเปลี่ยนม้ากลางศึกแบบนี้ ผมคิดว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะทุกคนจะสงสัยว่าใครจะมา นโยบายจะเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนมาสานต่อนโยบายเก่า เราเดินหน้าต่อจะมีมุมมองใหม่ๆ เข้ามาที่เป็นประโยชน์มากขึ้น นักลงทุนก็ชอบ เพราะคนกุมบังเหียนหลักคือ นายกฯ กลุ่มทีมงานเหมือนเดิม ดังนั้น บางครั้งหลักธุรกิจ เปลี่ยนทีม ทำให้คุณภาพโดดเด่นขึ้น ถ้าคนคนนั้นเข้ามาแล้วมันใช่

 

แต่การไม่เปลี่ยนก็ถือว่าทำได้ เพราะไม่ได้มีผลงานย่ำแย่ ยังทำด้วยความตั้งใจสร้างประโยชน์คุณูปการอยู่ จึงอยู่ที่นายกฯ ตัดสิน

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนทีมงานกลางคัน ต่างชาติเขาต้องทำความเข้าใจใหม่ การเปลี่ยนซีอีโอถือเป็นเรื่องปกติของการทำงานเชิงธุรกิจ การเปลี่ยนคนทำงานเป็นเรื่องปกติของเชิงธุรกิจเชิงการเมือง เพียงแต่แนวนโยบายถ้าไม่เปลี่ยน การที่ทำงานแล้วเขาเข้าถึง เข้าใจ และร่วมกันทำงานได้นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น นายสมคิดถูกเปลี่ยนหรือไม่อยู่แล้ว จะมีหน่วยงานที่เป็นแกนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เดินหน้าต่อได้ เพราะทุกคนเวลาเจรจาความกัน จะยึดประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ส่วนตน แต่ถ้าคนที่มาใหม่จะมาแทนนายสมคิด ต้องมีบุคลิกเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้เร็ว และถ้ามีประสบการณ์เชื่อมโยงจากต่างประเทศก็จะมีแต้มต่อเป็นพิเศษ

 

จากโครงสร้างเปรียบเสมือนพลังประชารัฐเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของรัฐบาล และกำลังขอร้องให้ซีอีโอเปลี่ยนทีมทำงาน นายกฯ ในฐานะซีอีโอ สามารถดำเนินการได้คือ 1.ถ้าคิดว่าคนเดิมอยู่แล้วเป็นประโยชน์ ก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้น 2.ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งถูก ให้เป็นหัวหน้าพรรคคือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็คุยกับพล.อ.ประวิตรง่ายหน่อย 3.อาจต้องทำตามมุมมองของผู้ถือหุ้นเพราะถ้าผู้ถือหุ้นโหวตไม่ผ่าน มันไม่สามารถดำเนินการได้ต่อในกระบวนการรัฐสภา ทำให้การทำงานทางการเมืองลำบาก

 

ฉะนั้น ผมเชื่อว่านายกฯ มีเหตุผลที่จะคุยกับพลังประชารัฐได้ เพราะนายกฯ บอกเองว่าขอให้โควตาของทีมเศรษฐกิจอยู่ในมือท่าน เพราะเชื่อว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และประชาชนมากที่สุด ซึ่งส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องยึดผลประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่ความเห็นของพรรค

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

 

การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจหรือไม่เปลี่ยนในตอนนี้ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลงไปมากกว่านี้ แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจที่จะหนักขึ้นในเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาการเลิกจ้าง และการว่างงาน ดังนั้น คนที่เป็นทีมเศรษฐกิจควรสนใจปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ควรแก้แบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องมีมาตรการหรือแนวทางดูแลเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น เพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มาตรการหรือนโยบายต่างๆ ควรเน้นให้เกิดการจ้างงาน จะทำให้เกิดความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจภายในประเทศได้

 

นอกจากนี้ต้องมองถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องอาศัยความมีเสถียรภาพของรัฐบาล แต่รัฐบาลในตอนนี้ไม่มีเสถียรภาพมากนัก เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ที่ไม่มีกลุ่มหรือพรรคใดดูแลกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นเพียงการแบ่งให้แต่ละพรรคไปดูแลแต่ละกระทรวงเท่านั้น จนเรียกว่าทีมเศรษฐกิจไม่เป็นทีมจริงๆ จึงทำให้การบริหารงานยาก

 

แม้ต่างประเทศจะมีความเชื่อมั่นในประเทศเราว่าควบคุมการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อโควิด-19 ได้ดี ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญ แต่มีเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยปกครองโดยกฎหมายและเดินหน้าส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย เรื่องนี้ต่างหากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ต้องเข้าใจว่าการลงทุนของต่างประเทศ เป็นการลงทุนระยะยาว เขาจะต้องมั่นใจในระบบต่างๆ ถึงจะกล้ามาลงทุน

 

ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องความซื่อสัตย์ และโปร่งใส เนื่องจากต้องบริหารงบประมาณจำนวนมาก และงบส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ ซึ่งจะเป็นภาระต่อลูกหลานไทยในอนาคต

 

ภาพลักษณ์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจนั้น ถ้าจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ต้องได้คนที่มีคุณภาพระดับเดียวกันกับนายสมคิด หรือจะต้องดีกว่า ถ้าไม่ได้คนในระดับเดียวกัน อาจจะเกิดความไม่เชื่อมั่นได้ ดังนั้น ต้องเอามาเทียบเคียงกัน ทั้งคนที่จะเข้ามาและคนที่จะออกไป คุณสมบัติต่างกันหรือไม่ ทั้งด้านความรู้ความสามารถ ความโปร่งใส

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ไม่มีนัยยะหรือสำคัญใดๆ แต่เราต้องเปลี่ยนรัฐบาลต่างหาก โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

 

พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

ผมเห็นด้วยกับนายสมคิด ที่ระบุว่าถ้าจะเปลี่ยน ต้องเอาคนที่รู้จริงและทำเป็นเข้ามาทำ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน เศรษฐกิจเจอวิกฤตอย่างรุนแรงในรอบหลาย 10 ปี ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

 

ฉะนั้น คนที่จะมาแทนคนเก่า ต้องมั่นใจว่ารู้ปัญหาดี รู้ที่จะแก้ปัญหา เข้าใจกลไกการทำงานทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งมีทั้งการเงิน การคลัง ระเบียบข้อบังคับ สามารถใช้แนวทางนโยบายบรรเทาปัญหาและวางกรอบฟื้นฟูในอนาคต ถ้าคิดว่ามีบุคคลที่คิดว่าทำได้ดีกว่าทีมชุดปัจจุบัน เปลี่ยนแล้วเป็นผลดีกับประเทศชาติ ก็ให้เปลี่ยน ไม่ต้องรอ เพราะปัจจุบันยังอยู่ในช่วงคับขัน หลายคนยังว่างงาน กิจการใกล้ล้มละลาย ไม่มีรายได้ ไม่สามารถจ่ายหนี้สินได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา 3 เดือนแล้ว และยังอยู่ต่อเนื่องถึงอนาคต ที่จะเห็นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้

 

การปรับเปลี่ยนจะทำเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องทำงานได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาเรียนรู้งาน สอบถามที่ปรึกษา ประชุมระดมสมอง ซึ่งจะเสียเวลาไปอีก 1-2 เดือน ทั้งที่รอเวลาไม่ได้ ดังนั้น คนใหม่ที่เข้ามาต้องพร้อมทำงานได้เลย สั่งการได้ โดยเฉพาะเงิน 4 แสนล้านบาท จะทำให้เกิดประโยชน์ เกิดการ กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร อัดฉีดในเรื่องใด จะแก้กฎระเบียบ ข้อบังคับอย่างไร เพื่อบรรเทาปัญหาไปได้

 

สิ่งเหล่านี้ต้องทำได้เลยภายใน 1 สัปดาห์ที่เข้ามา อย่ามัวเสียเวลากับการฟอร์มทีม และทีมใหม่ที่เข้ามา เชื่อว่าจะไม่เกิดการสะดุดจากการตีกรอบของชุดเดิมที่วางไว้ ไม่ว่าจะล็อกด้วยกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ก็แก้ไขได้ จะไปโง่ยึดถือของเดิมอยู่ทำไม ถ้ามันไม่ดี ทุกอย่างเปลี่ยนได้ แม้แต่กฎหมายสูงสุดยังเปลี่ยนได้เลย

 

ส่วนการเปลี่ยนม้ากลางศึกอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาตินั้น ถ้าเปลี่ยนแล้วทีมมันห่วยก็กระทบด้านความเชื่อมั่นแน่นอน แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วดูกระฉับกระเฉง ไอเดียดี นำมาใช้ได้ แก้ปัญหาที่คาราคาซังมาเป็น 10 ปีได้ อย่างนี้จะสร้างความเชื่อมั่น เรียกความนิยมกลับคืนมาได้ ถ้าเรามีทีมเศรษฐกิจที่ดีกว่า ทำงานได้ดีกว่า แต่ไม่ได้บอกว่าทีมปัจจุบันไม่ดี เขาดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรียกร้องอยากจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแล้วดีกว่า คือสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ส่วนเรื่องการเมืองไปว่ากันทีหลัง เพราะตอนนี้เลือดเข้าตาโดยเฉพาะมาจากโควิด-19

 

ส่วนความเชื่อมั่นจากต่างชาติ เขามองที่ฝีมือของผู้นำรัฐบาลเขาสนใจนโยบายของรัฐบาล และดูว่าผลจากการบริหารเป็นอย่างไร ซึ่งสำคัญมากกว่าตัวบุคคล

 

ถ้านายกฯ ต้องปรับโดยมีปัจจัยจากแรงกดดันภายในพรรค อาจถูกวิจารณ์ แต่ถ้าปรับแล้ว รูปโฉมของชุดใหม่และวิธีการทำงานกระฉับกระเฉง รับรู้ปัญหา แก้ไขได้สำเร็จดีกว่าชุดปัจจุบัน ประชาชนก็ต้องยอมรับ เพราะคนส่วนใหญ่ยากลำบาก เขาไม่สนใจว่าใครจะมาดูเรื่องเศรษฐกิจ แต่สนใจว่าทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่

 

ฉะนั้น นายกฯ ต้องคำนึงถึงจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นทีมใหม่หรือทีมเก่า ต้องทำให้ประชาชนได้รับผลที่ดีขึ้น

 

คำถามตอนนี้ถ้าเราเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจแล้วทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ ถ้าคำตอบดีและมีทีมที่ดีกว่าและหาได้ดีกว่าก็ให้ทำเลย ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการเมือง แต่ถ้าไม่ดีกว่า อย่าทำ แม้จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพดีขึ้น แต่ถ้าทีมใหม่เข้ามาแล้วประชาชนยังหิวโหย คนตกงานอยู่ ไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่าเดิม อย่าเปลี่ยนดีกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง