รีเซต

แบงก์ลุยไพรเวทแบงกิ้งจับกลุ่มลูกค้าเศรษฐี

แบงก์ลุยไพรเวทแบงกิ้งจับกลุ่มลูกค้าเศรษฐี
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2564 ( 14:20 )
70
แบงก์ลุยไพรเวทแบงกิ้งจับกลุ่มลูกค้าเศรษฐี

ธุรกิจ “ไพรเวทแบงกิ้ง”  กลับมาแข่งขันกันดุเดือดอีกครั้ง โดยบรรดาแบงก์หลายค่ายเริ่มขนโซลูชั่นทางการเงิน  การลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ     พร้อมบุคลากรระดับมืออาชีพ  เข้ามาช่วยบริหารสินทรัพย์  จัดพอร์ตการลงทุนแบบครบวงจรป้อนลูกค้ามั่งคั่งที่เป็นคนกลุ่มน้อย แต่กระเป๋าหนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ ทายาทผู้สืบทอดกิจการ และกลุ่มวิชาชีพที่รายได้สูง เช่น แพทย์ ทนายความ คอนซัลแทนต์กันเป็นทิวแถว

 โดยพุ่งเป้าไปที่การสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนงอกเงยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แลกกับรายได้จากค่าธรรมเนียมที่แบงก์จะได้รับในอนาคตจากการบริหารพอร์ต  ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าหลายแบงก์ชูจุดเด่นการบริการที่แตกต่างมัดใจลูกค้าเศรษฐีกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าต้องการจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน พร้อมจับมือกับสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกหลายแห่งเข้ามาช่วยตอบโจทย์ข้อมูลให้กับลูกค้าได้ตรงจุด  

นอกจากนี้มีหลายแบงก์ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาช่วยต่อยอดการลงทุนให้กับลูกค้า ด้วยการปล่อยกู้ให้กับคนรวย โดยใช้หุ้นกู้ เงินฝาก กองทุน  แลนด์ โลน ฟอร์ อิสเวสเมนท์ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอยื่นกู้กันบ้างแล้ว

เริ่มจาก "กสิกรไทย" ผลักดันสินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันและนำไปต่อยอดการลงทุน(แลนด์ โลน ฟอร์ อิสเวสเมนท์)โดยได้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในรอบที่ 2 อีก 15,000 ล้านบาทหลังจากรอบแรกขอไป 15,000 ล้านบาทได้รับผลตอบรับดีจากเศรษฐีไทย จากปัจจุบันมีลูกค้าสนใจกว่า 100 รายธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว 9,000 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 5,000 ล้านบาท

ความพยายามในการขยายฐานลูกค้ากลุ่มเงินถุงเงินถังนี้ ส่งผลให้ เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้งในปี 63 โตสวนกระแสโควิด โดยมีจำนวนลูกค้า 12,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ(เอยูเอ็ม) ราว 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ กว่า 5.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 67% ส่วนที่เหลือเป็นเงินฝาก  

โดยการเติบโตของเคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง มาจาก 3 ส่วนหลัก ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมที่อัพเกรดมาอยู่ในกลุ่มไพรเวทแบงกิ้ง และจากการเพิ่มสินทรัพย์หรือเงินลงทุนของลูกค้าเดิม รวมถึงการเติบโตจากการปล่อยสินเชื่อ Land Loan for Investment หรือการนำที่ดินมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อเพื่อต่อยอดการลงทุนกับธนาคาร

นอกจากนี้ ธนาคารได้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว  ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าของธนาคารในเชิงลึก และเปิดโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งในปี 64 มีแผนเพิ่มบริการตัวช่วยจัดตั้งสำนักงานครอบรัว และงานด้านสาธารณกุศลรวมถึงการจัดกิจกรรมการลงทุนตามความชอบ เช่น การสะสมงานศิลปะ พระเครื่อง เป็นต้นและยังให้บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่ดินที่ยังรอและไม่พร้อมพัฒนาที่จะเสียภาษีอัตราสูง

ด้าน "ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย" ไม่น้อยหน้า  น้นยุทธศาสตร์บริการเชิงลึกผ่านดิจิตอล เสนอความหลากหลายตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล เปิดโอกาสให้ลูกค้าเวลธ์ นำเอาหุ้นกู้ กองทุน เงินฝากมาเป็นหลักประกันขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทและตั้งเป้าหมายเอยูเอ็มเติบโต 20% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งมีจำนวนลูกค้าพรีเฟอร์เพิ่ม 10,000 ราย จากปีนี้ 86,000 ราย เป็น 96,000 ราย ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมปี 64 คาดจะเติบโต 25%

ส่วนการให้บริการ จะเน้นการให้บริการในเชิงลึก(Deepening relationships) เพื่อต่อยอดจุดแข็งของการมีทีมเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนที่มีใบอนุญาตและความเชี่ยวชาญ รวมถึงทีมวิจัยที่เจาะลึกราย sector ให้คำปรึกษาแนะนำการลงทุนแบบเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น   

ด้วยผลกระทบจากโควิดทั้งระลอกเก่าและระลอกใหม่ ซึ่งทำให้กลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ยังคงต้องสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาปากท้องและธุรกิจของตัวเอง ขณะที่ลูกค้าระดับบนที่มีฐานะทางการเงินและฐานธุรกิจที่มั่นคงอยู่เดิม และสามารถปรับกระบวนทัพให้สามารถรับมือกับโครงสร้างธุรกิจและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ ยังเป็นกลุ่มที่ความเข็มแข็งและมั่งคั่งต่อไป ทำให้กลุ่มลูกค้าระดับดังกล่าวถือเป็นลูกค้าเป้าหมายหลักของทุกธนาคาร

ยิ่งใครชิงเค้กชิ้นใหญ่ก้อนนี้ไปได้มาก ก็หมายถึงฐานรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีความพร้อมที่จะจ่าย เพื่อแลกกับบริการและผลตอบแทนที่เห็นว่าคุ้มค่าที่สุด!

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง