รีเซต

สาเหตุการแยกนิกายของอิสลาม

สาเหตุการแยกนิกายของอิสลาม
TrueID
24 พฤษภาคม 2564 ( 15:59 )
4.6K
สาเหตุการแยกนิกายของอิสลาม

 

ศาสนาในโลกทุกศาสนาต่างก็มีหลายนิกาย ไม่ว่าจะเป็นคริส พุทธ และอิสลาม เคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงต้องแยกกันเป็นหลายนิกาย วันนี้ trueID จะพาไปพบกับเรื่องราวของการแบ่งแยกนิกายของศาสนาอิสลามว่ามีความเป็นมาอย่างไร 

 

เรื่องราวปฐมสงครามแห่งโลกอิสลาม ที่แบ่งแยกซุนนีกับชีอะห์ และเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งของชาวมุสลิมจนปัจจุบัน

 

 

 

 

*** The Wild Chronicles: ปฐมฟิตนะห์ ตอนที่ 1 ***

คำว่า “ฟิตนะห์” เป็นภาษาอาหรับแปลว่าการสร้างความเดือดร้อน วุ่นวาย



สารคดี The Wild Chronicles ชุดนี้จะนำท่านสู่เรื่องราวของ "ปฐมฟิตนะห์" หรือฟิตนะห์ครั้งแรก ซึ่งถูกนำมาใช้เรียกสงครามกลางเมืองครั้งแรกในหมู่ชาวมุสลิม



เหตุดังกล่าวนำมาสู่ความโกรธแค้นชิงชัง ที่พาให้มุสลิมจับอาวุธเข้าประหัตประหารกันเอง นำสู่การบาดเจ็บล้มตายของคนนับล้านๆ ในเวลานับพันปี



ความขัดแย้งจากฟิตนะห์ครั้งแรกนี้ยังคงดำเนินอยู่มาตลอด สามารถใช้อธิบายความขัดแย้งมากมายจนปัจจุบัน ดังจะได้บรรยายต่อไปในที่นี้ครับ



ดินแดนตะวันออกกลางยุคโบราณนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจสองอาณาจักร นั่นคืออาณาจักรโรมันทางตะวันตก และอาณาจักรเปอร์เซียทางตะวันออก สองอาณาจักรรบพุ่งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตลอด โดยมีสมรภูมิตรงกลางคือคาบสมุทรอาระเบียซึ่งสภาพเป็นทะเลทรายเวิ้งว้าง มีจุดที่อุดมสมบูรณ์จำกัด



ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาระเบียนั้นเรียกว่าชาวอาหรับ ชีวิตทะเลทรายทำให้พวกเขามีความทรหดอดทน เป็นนักรบที่เก่งกล้า นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นพ่อค้าที่ดี เพราะคาบสมุทรดังกล่าวเป็นจุดพักสำคัญในเส้นทางสายไหม ซึ่งเชื่อมการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน



เนื่องจากชาวอาหรับด้อยความเจริญกว่าโรมันและเปอร์เซีย อีกทั้งยังแตกเป็นหลายเผ่าหลายพวก จึงถูกสองมหาอำนาจใช้เป็นเบี้ยหมากทำสงครามตัวแทนเพื่อชิงความเป็นใหญ่ โรมันนั้นมีรัฐอาหรับบริวารอยู่ในดินแดนซีเรีย และเปอร์เซียมีรัฐอาหรับบริวารอยู่ในอิรัก ต่างใช้ชาวอาหรับเข่นฆ่ากันเองมิได้ขาด การนี้ว่าไปแล้วเหมือนกับที่พม่าและไทยในอดีตต่างเลี้ยงชาวมอญให้มาห้ำหั่นกันแทนพวกตัว



วันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในปีช้าง (นับตามแบบอาหรับ) หรือตรงกับ ค.ศ. 570 มีชายอาหรับคนหนึ่งชื่อนบีมุฮัมมัดถือกำเนิดขึ้นในนครเมกกะ นบีมุฮัมมัดนั้นนิสัยเมตตากรุณา ซื่อสัตย์จริงใจ จนคนในยุคนั้นให้สมญาว่า “อัลอะมีน” หรือผู้ซื่อสัตย์ ท่านประกอบอาชีพพ่อค้า มีความสามารถทางค้าขายสูง เมื่อนำกองคาราวานไปเมืองใดก็มักได้รับผลกำไรเป็นอันมากจนมีกิตติศัพท์เลื่องลือ



เราท่านอาจทราบตำนานที่ว่าเมื่อนบีมุฮัมมัดอายุสี่สิบปี ได้มีทูตสวรรค์มาบอกท่านว่าพระเจ้าแต่งตั้งให้ท่านรับหน้าที่ประกาศหลักธรรมอันเที่ยงแท้ ทั้งยังประทานโองการชื่อว่าคัมภีร์อัลกุรอานให้ นบีมุฮัมมัดรับโองการนั้นแล้วก็เริ่มดำเนินการประกาศศาสนา เราเรียกศาสนาใหม่นี้ว่าศาสนาอิสลาม และเรียกผู้ที่นับถืออิสลามว่าชาวมุสลิม



เวลานั้นชาวอาหรับบางส่วนก็นับถือศาสนาคริสต์ตามโรมัน บางส่วนก็นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ตามเปอร์เซีย และบางส่วนยังนับถือภูติผีต่างๆตามเผ่าของตน เมื่อคนเหล่านี้ได้พบกับหลักธรรมอันบริสุทธิ์ของอิสลามก็เกิดศรัทธามาเชื่อฟังนบีมุฮัมมัดเป็นอันมาก



การมาของศาสนาอิสลามทำให้ชาวอาหรับทั้งปวงหลอมรวมกันใต้ความเชื่อเดียว เกิดเอกภาพแข็งแกร่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากนั้นหลักธรรมหลายประการยังส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สร้างระเบียบวินัย ทำให้สังคมอาหรับเจริญขึ้น



อิสลามกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะมันทำให้ชาวอาหรับเห็นทางสว่างที่จะปลดแอกพวกตนจากโรมันและเปอร์เซีย จำนวนคนที่มาสวามิภักดิ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นบีมุฮัมมัดมีอำนาจปกครองเมืองและอาณาจักร ท่านขยายอำนาจโดยการสั่งสอน การทูต และสงคราม ในที่สุดก็สามารถปกครองคาบสมุทรอาระเบียแทบทั้งหมด ทำให้ชาวอาหรับกลายเป็นขุมอำนาจที่เข้มแข็ง สามารถต่อกรกับโรมันและเปอร์เซียได้



กระทั่ง ค.ศ. 632 อาณาจักรอิสลามต้องสั่นคลอน เพราะนบีมุฮัมมัดเสด็จสู่สวรรค์โดยไร้ลูกชาย ทำให้เกิดการทะเลาะกันระหว่างผู้ติดตามระดับสูงว่าจะให้ใครเป็นทายาทของท่านดี?



เหล่าสมาชิกครอบครัวของนบีมุฮัมมัดส่วนใหญ่สนับสนุนให้ท่านอาลีซึ่งเป็นลูกเขยของนบีมุฮัมมัดขึ้นครองราชย์ หากพวกขุนพลกลับแต่งตั้งแม่ทัพที่มีบารมีชื่ออบูบักรขึ้นเป็นกาหลิบก่อน (กาหลิบ หรือ คอลีฟะห์ เป็นคำเรียกตำแหน่งกษัตริย์แบบหนึ่ง แม้มุสลิมจะมีคำเรียกผู้นำอยู่หลายอย่าง เช่นสุลต่าน เอมีร์ หรืออิหม่าม แต่เฉพาะคำว่ากาหลิบนั้นหมายถึงกษัตริย์สูงสุดผู้ปกครองชาวมุสลิมทั้งหมดทั้งทางโลกทางธรรม)



อาลีเห็นว่าอาณาจักรอิสลามนั้นเพิ่งเกิดใหม่ ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกจึงยอมรับอำนาจของอบูบักร โดยอาลียังคงเป็นสมาชิกระดับสูงและถูกมองเป็นทายาทระดับต้นๆของตำแหน่งกาหลิบอยู่เสมอ



หลังจากนั้นอาณาจักรอิสลามได้ขยายออกไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว พวกเขาใช้พลังความเชื่อความศรัทธาทำให้กองทัพมีความเข้มแข็ง ถึงกับพิชิตเปอร์เซีย แอฟริกาเหนือ และบางส่วนของโรมันได้ มีชนชาติต่างๆเข้ามาสยบแก่อาณาจักรอิสลามมากมาย ในลักษณะนี้อิสลามจึงค่อยๆก้าวข้ามจากศาสนาของชาวอาหรับกลายเป็นศาสนาของโลก...


 

 

 

*** The Wild Chronicles: ปฐมฟิตนะห์ ตอนที่ 2 ***



ตามประวัติศาสตร์เมื่ออิสลามกลายเป็นศาสนาของชนหลายเผ่า ตอนแรกชนต่างเผ่าเหล่านี้สมานสามัคคีกันยึดเอาหลักธรรมอิสลามเป็นที่ตั้ง ต่อมาเมื่อพิชิตดินแดนกว้างไกลออกไป มีผลประโยชน์มหาศาลหลั่งไหลเข้ามาในอาณาจักร คนทั้งหลายก็เริ่มหวั่นไหว มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แย่งผลประโยชน์นั่นนี่ แม้ในหมู่อาหรับซึ่งแตกเป็นหลายเผ่าก็เริ่มรำลึกถึงความขัดแย้งระหว่างเผ่าในอดีต



กาหลิบคนที่สามชื่ออุษมานนั้นถูกกล่าวหาว่าลำเอียงให้ผลประโยชน์กับญาติมิตร แต่งตั้งญาติตนเข้ารับตำแหน่งสำคัญมากเกินไป มีผู้พยายามยุแยงให้คนแตกแยกกันเพื่อสร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่มุสลิมหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากอียิปต์กับอิรัก



ตอนแรกผู้ประท้วงจากอียิปต์อิรักจำนวนมากมารวมกันที่เมืองเมดินาห์ซึ่งเป็นที่ประทับของอุษมาน แล้วเรียกร้องให้อาลีและผู้อาวุโสหลายคนชิงตำแหน่งกาหลิบจากอุษมานเสีย แต่อาลีและคนอื่นๆล้วนปฏิเสธ ต่อมาอุษมานจึงเกลี้ยกล่อมให้ผู้ประท้วงเหล่านั้นกลับไปก่อน โดยจะดูแลเคลียร์ปัญหาให้หมดสิ้น เหล่าผู้ประท้วงพอใจก็พากันกลับ



แต่ในระหว่างทางกลับอียิปต์นั้นคาราวานของผู้ประท้วงเห็นมีพนักงานขี่อูฐส่งสารวิ่งไล่ตนมาในทางเดียวกันก็จับไว้ จึงพบสารของกาหลิบอุษมานบอกให้ข้าหลวงอียิปต์ทำการปราบกบฏเสีย (มักเชื่อกันว่าสารดังกล่าวเป็นของปลอม ซึ่งคนร้ายจงใจสร้างขึ้นให้มุสลิมเกิดความแตกแยก อย่างไรก็ตามใครเป็นคนปลอมสารนั้นหลักฐานยังไม่ลงรอยกันทีเดียว คือถ้าไม่ใช่ญาติอุษมานทำ ก็เป็นยิวชั่วที่แกล้งมารับอิสลาม)



พวกประท้วงเห็นดังนั้นก็โกรธเกรี้ยวเป็นอย่างมาก จึงเปลี่ยนจากกลุ่มประท้วงเป็นกลุ่มกบฏ พากันย้อนกลับเมืองเมดินาห์ จะโค่นล้มการปกครองของอุษมานให้ได้



ขณะนั้นอุษมานยังมีกำลังมากกว่ากบฏ แต่แทนที่จะจัดการกำราบกบฏอย่างเด็ดขาด เขากลับมีจิตเมตตาพยายามเกลี้ยกล่อมให้คนทั้งหลายค่อยๆเคลียร์ปัญหา เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และเพื่อหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันกันเอง



ปรากฏว่าความเมตตาของอุษมานกลับทำให้พวกกบฏเหิมเกริมขึ้น ปี 656 พวกเขาอาศัยจังหวะที่มุสลิมจำนวนมากเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ บุกเข้าจับอุษมานฆ่าตายอย่างอุกอาจ!



จากนั้นพวกกบฏก็เข้าสวามิภักดิ์ต่ออาลี!



เหตุนี้ทำให้อาณาจักรอิสลามสั่นคลอน สมาชิกระดับสูงส่วนใหญ่ยังคงเลือกให้อาลีเป็นกาหลิบคนที่สี่ ส่วนอาลีแสดงความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะกบฏมีกำลังมาก ทั้งยังมาสวามิภักดิ์ตน หากปราบปรามก็เกรงจะควบคุมไม่อยู่ เป็นความวุ่นวายใหญ่หลวง



ขณะที่ผู้อาวุโสหลายคนนำโดยขุนพลใหญ่ชื่อมุอาวิยะห์ซึ่งเป็นญาติอุษมาน และท่านหญิงอะอิชะห์ซึ่งเป็นภรรยาคนโปรดของนบีมุฮัมมัดไม่ยอมรับเรื่องนี้ ต่างกล่าวโทษที่อาลีมิได้แข็งขันในการกำจัดกลุ่มกบฏ



ตรงนี้มีบันทึกความต่างกันหลากหลาย นักประวัติศาสตร์มีความเห็นไม่ลงรอยกันต่อจุดยืนของอาลี และถ้าท่านไปถามชาวมุสลิมทั้งหลายว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้นพวกเขาก็จะตอบไม่เหมือนกัน ขึ้นกับว่าเขาอยู่กลุ่มใด สังกัดนิกายใด



บางกระแสบอกว่าอาลีอยู่เบื้องหลังการกบฏต่ออุษมาน...
บางกระแสบอกว่าอาลีไม่รู้เห็นกับสิ่งนี้แต่ควบคุมพวกกบฏไม่ได้...
บางกระแสถึงกับบอกว่ามุอาวิยะห์ และอะอิชะห์เองนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าอุษมาน...
บางกระแสยังบอกว่าการกำจัดอุษมานเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพราะเขาเล่นพรรคพวก...
บางกระแสบอกว่าอุษมานไร้ความผิดเพราะญาติมิตรที่อุษมานตั้งมารับตำแหน่งสำคัญนั้นหลายคนก็มีความสามารถจริง...



ตัวผมเห็นว่าอุษมานและอาลีน่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน กล่าวคือก่อนเป็นกาหลิบนั้นอุษมานเคยประกอบอาชีพพ่อค้ามีฐานะร่ำรวย คอยช่วยสนับสนุนความเคลื่อนไหวอิสลามทางเศรษฐกิจ ส่วนอาลีเป็นนักรบที่ติดตามใกล้ชิดนบีมุฮัมมัด มีฐานะยากจน



อุษมานเห็นอาลีไม่มีเงินสู่ขอบุตรสาวนบีมุฮัมมัดก็ขอซื้อเสื้อเกราะของอาลีในราคาสูง ให้พอทั้งเป็นค่าสินสอด และค่าจัดงานแต่ง จากนั้นอุษมานยังแสดงความใจกว้างมอบเสื้อเกราะคืนแก่อาลีเป็นของขวัญแต่งงานด้วย ต่อมาเมื่อพวกกบฏมาโจมตีอุษมาน อาลีก็เคยให้บุตรชายของตนเองเข้าปกป้องเขา และบุตรอาลีนั้นต่อสู้ปกป้องอุษมานจนได้รับบาดเจ็บ



แม้อาลีจะต้องการแก้แค้นให้อุษมาน แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ตอนนั้น เขาอาจไม่มีอำนาจในมือเพียงพอ การยอมขึ้นเป็นกาหลิบและรับการสวามิภักดิ์จากพวกกบฏ อาจเป็นทางที่เขาเห็นว่าจะทำให้อาณาจักรอิสลามที่เปราะบางกลับสู่ความสงบได้เร็วที่สุด

 

 

 

 

*** The Wild Chronicles: ปฐมฟิตนะห์ ตอนที่ 3 ***



จากตอนก่อนไม่ว่าอาลีคิดเห็นอย่างไรต่อการตายของอุษมาน การณ์ครั้งนั้นได้สร้างสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า “ฟิตนะห์ครั้งแรก” ขึ้น อาณาจักรอิสลามแตกเป็นฝ่ายญาติอุษมาน และฝ่ายอาลี ถึงอาลีจะพยายามเกลี้ยกล่อมอย่างไร แต่ก็ไม่อาจทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ จนถูกบีบคั้นให้ต้องนำทัพเข้าทำสงครามกลางเมืองห้ำหั่นกันเองในที่สุด



ตอนแรกสงครามดำเนินไปโดยอาลีเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในการรบของเขากับท่านหญิงอะอิชะห์ ทหารของอาลีสามารถฝ่าเข้าไปตัดขาอูฐที่หามเสลี่ยงของท่านหญิงอะอิชะห์อยู่ และจับเป็นอะอิชะห์ได้ การรบจึงยุติ (เรียกศึกนั้นว่า “ศึกอูฐ” เพราะเหตุนี้) อาลีไว้ชีวิตอะอิชะห์ แล้วให้ควบคุมตัวไปดูแลอย่างมีเกียรติ



ในสงครามอีกครั้ง อาลีรบกับมุอาวิยะห์ สามารถชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบเช่นกัน
มุอาวิยะห์ใกล้แพ้แล้วจึงนำคัมภีร์อัลกุรอานมาผูกกับปลายหอก แล้วชูให้อาลีดูเพื่อขอสงบศึก ให้ใช้บุคคลที่สามมาเลือกตั้งกาหลิบใหม่แทนตัดสินด้วยการรบ



อาลีนั้นมีใจเมตตาคล้ายอุษมาน จึงยอมสงบศึกกับมุอาวิยะห์ แล้วต่างฝ่ายต่างสรรหาบุคคลที่สามมาเลือกตั้ง



ในหมู่บริวารอาลีกลับมีกลุ่มหนึ่งเรียกว่าพวกคอวาริจญ์ คนกลุ่มนี้ไม่พอใจเป็นอย่างมากที่อาลียอมเจรจาทั้งที่กำลังจะชนะอยู่แล้ว จึงแยกตัวไปจากกองทัพ



ลักษณะของพวกคอวาริจญ์นี้คือเป็นคนหนุ่มเลือดร้อน ถนัดตัดสินปัญหาต่างๆด้วยความรุนแรง เห็นว่าตนเองมีความคิดดีกว่าคนอื่น และคนทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับตนล้วนถือว่าผิดบาปทั้งสิ้น พวกฝั่งอาลีอื่นไม่ชอบความหัวรุนแรงของคนเหล่านี้จึงเรียกว่า “อัลคอวาริจญ์” ซึ่งภาษาอาหรับแปลว่า “พวกอื่น” เพราะรังเกียจที่จะถูกนับรวมด้วย (อัลเป็นคำนำหน้านามในภาษาอาหรับ ใช้คล้ายคำว่า The ในภาษาอังกฤษ)



ในลักษณะนี้พวกคอวาริจญ์จึงกลายเป็นศัตรูกับทั้งอาลีและมุอาวิยะห์ พวกเขาปรึกษากันแล้วเห็นว่าควรลอบสังหารทั้งอาลี และมุอาวิยะห์เสีย เพราะล้วนเป็นผู้นำซึ่งขาดความชอบธรรมจากพระเจ้า



...ปรากฏว่าพวกคอวาริจญ์ประสบความสำเร็จในการฆ่าอาลีตาย แต่ล้มเหลวในการฆ่ามุอาวิยะห์...



...มุอาวิยะห์จึงได้ขึ้นเป็นใหญ่ และเป็นกาหลิบในที่สุด...



อาณาจักรอิสลามกลับมาสงบสุขในแบบที่วงศ์ของมุอาวิยะห์เข่นฆ่าและกดขี่ลูกหลานของอาลี ...จนสงบราบคาบ...



บันทึกของอิสลามพูดถึงมุอาวิยะห์ไว้เป็นหลายกระแส ดีบ้าง ร้ายบ้างขึ้นกับใครเขียน หรือเขียนเวลาไหน



มุอาวิยะห์ประสบความสำเร็จในการขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันเขาก็รวมอำนาจสู่ตนเองและครอบครัว โดยเปลี่ยนการสืบตำแหน่งกาหลิบจากการเลือกตั้งของสภาผู้อาวุโสไปเป็นการสืบสันตติวงศ์ ยกให้ลูกหลานของตนขึ้นมาปกครองต่อในนามราชวงศ์อุมัยยะห์ (ถือมุอาวิยะห์เป็นกาหลิบจากวงศ์อุมัยยะห์คนที่สอง คนแรกคืออุษมาน)



ในราชวงศ์อุมัยยะห์ อิสลามได้เปลี่ยนจากความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่ผู้นำและประชาชนมีความสมถะ ศรัทธา ไปเป็นราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ที่ปกครองโดยกษัตริย์ผู้ร่ำรวยทรงพลัง เหมือนกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ มีการสร้างพระราชวังใหญ่โต นำความสำราญต่างๆเข้ามา ความเป็นอาณาจักรศาสนาก็อ่อนลง



...และหลังยุคราชวงศ์อุมัยยะห์อำนาจก็เปลี่ยนมืออีกหลายครั้ง มุสลิมแตกออกเป็นหลายชาติ หลายกลุ่ม ไม่เคยรวมกันได้อีกเลย...

 

 

 

*** The Wild Chronicles: ปฐมฟิตนะห์ ตอนที่ 4 ***

ปัจจุบันเราสามารถแบ่งมุสลิมได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ เรียกว่าพวกซุนนี กับชีอะห์



การแบ่งนี้ก็สืบมาจากความขัดแย้งในสงครามฟิตนะห์ครั้งแรก กล่าวคือชาวซุนนีเชื่อว่ากาหลิบสี่คนแรกรวมทั้งอาลีนั้นมีความเที่ยงธรรมควรแก่การนับถือ ขณะที่ชาวชีอะห์รู้สึกต่อต้านการขึ้นครองราชย์ของมุอาวิยะห์อย่างมาก เชื่อว่าตำแหน่งผู้นำที่แท้จริงของอิสลามนั้นควรตกแก่วงศ์วานของนบีมุฮัมมัดในสายของอาลี และการที่อบูบักรแย่งตำแหน่งไปจากอาลีแต่แรกก็ถือว่าไม่ดีแล้ว



ความจริงหลังผ่านเวลาไปนับพันปีจนกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่ายล้มหายตายจากไปสิ้นความต่างนี้ก็ควรจะลดทอนลง หากมันกลับทำให้ซุนนีกับชีอะห์ผิดกันอย่างมาก เพราะความต่างดังกล่าวนำสู่การแบ่งแยกไปถึงด้านความเชื่อและแนวปฏิบัติศาสนกิจ



ความที่คัมภีร์อัลกุรอานมีข้อความหลายส่วนเป็นตีความได้ จึงจำเป็นต้องใช้หะดีษ (รายงาน) จากผู้ที่มีความน่าเชื่อถือคนต่างๆมาอธิบายเพื่อหาแนวทางปฏิบัติอันถูกต้อง หะดีษที่น่าเชื่อถือที่สุดย่อมเป็นหะดีษของนบีมุฮัมมัดที่ทั้งซุนนีและชีอะห์ยอมรับ แต่นอกจากนั้นชาวชีอะห์มักเชื่อถือเฉพาะหะดีษของอาลีและลูกหลาน ขณะที่ชาวซุนนีเชื่อถือหะดีษของกาหลิบสามคนแรกด้วย



ในหมู่ชีอะห์และซุนนียังมีนิกายย่อยที่เชื่อถือหะดีษคนละชุดกันแตกออกไปอีกมากมาย ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าหะดีษชุดที่ตนนับถือนั้นเที่ยงแท้ที่สุด เป็นเหตุให้ขัดแย้งกับกลุ่มที่นับถือหะดีษชุดอื่นๆอยู่เสมอ



เหตุการณ์ในฟิตนะห์ครั้งแรกนี้มีคนรายงานไว้หลายสาย ล้วนพูดถึงไปต่างๆกันตามที่ตนอยากจะเชื่อ ฝ่ายชีอะห์มักพยายามบอกว่าพวกอาลีเป็นฝ่ายดีแต่ฝ่ายเดียว และยกระดับความขัดแย้งของกลุ่มอาลีกับกลุ่มอื่นๆให้เด่นชัดมาก ฝ่ายซุนนีจะพยายามบอกว่าเหล่าผู้อาวุโสในยุคสี่กาหลิบนั้นล้วนเป็นคนดี และแม้จะขัดแย้งกันก็เป็นความขัดแย้งที่สุดที่คนธรรมดาอย่างเราท่านจะชี้ขาด จึงไม่ได้บันทึกเรื่องความขัดแย้งทั้งหลายให้เด่นชัดนัก ขณะที่นักประวัติศาสตร์ชั้นหลังมักอธิบายไปในทางว่า มันน่าจะมีความขัดแย้งระดับหนึ่งนั่นแหละ แม้จะไม่รุนแรงขนาดบันทึกของชีอะห์



ในความขัดแย้งทางรายงานนี้บางคนหัวรุนแรงไปต่อว่าคนสำคัญมาที่ขัดแย้งกับคนสำคัญอีกคนที่ตนเองชอบ เช่นชีอะห์บางสายต่อว่าท่านหญิงอะอิชะห์ซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวซุนนีเคารพ การต่อว่ากันเช่นนี้นำสู่ความขัดแย้งอันรุนแรง เป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจใช้ปลุกปั่นประชาชนให้มีความเกลียดชัง ถึงกับจับอาวุธมาประหัตประหารกันได้ง่าย



แม้จะขัดแย้งกันอย่างไร จนปัจจุบันชาวมุสลิมส่วนใหญ่ยังคงเสียใจต่อความแตกแยกในสงครามฟิตนะห์ พวกเขาระลึกถึงยุคสี่กาหลิบว่าเป็น “ยุคบ้านเมืองยังดี” ที่อาณาจักรอิสลามรวมเป็นหนึ่งเดียว ผู้คนมีคุณธรรม ทำเพื่อศาสนา



...และความคิดอยากให้อิสลามกลับรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเหมือนยุคสี่กาหลิบก็ยังคงมีอยู่ในใจชาวมุสลิมอยู่เสมอ...

 

ตัวอย่างคำบันทึกในหะดีษ (รายงาน) ของอิสลามที่ทำให้ข้อมูลมีความสับสน เช่นหะดีษหนึ่งบรรยายว่าท่านอาลีนั้น "ค่อนข้างเตี้ย อ้วน ผิวดำแดง มีเคราขาว ตาโต"



หะดีษหนึ่งรายงานว่าท่านอาลี "สูงสันทัด ตาโตดุ หน้าตาหล่อเหลา หน้าผากกว้าง ลำคอล่ำสัน อกผาย ไหล่กว้าง มือมีกำลังมาก"



หะดีษหนึ่งรายงานว่า "ท่านคอลิด บิน อัล-วะลีด (ขุนพลคนหนึ่งของนบีมุฮัมมัด) นั้นหล่อเหลา แต่ท่านอาลีไม่หล่อ"



หะดีษหนึ่งบรรยายว่าท่าน "กินอยู่อย่างสมถะ รับประทานแค่สองมื้อเช้าเย็น และรับประทานเพียงขนมปังมื้อละชิ้น"



คำบรรยายชุดแรกดูเหมือนท่านอาลีจะไม่หล่อและอ้วน แต่คำบรรยายชุดที่สองบอกว่าหล่อมาก และออกแนวบึกบึนมากกว่าอ้วน คำบรรยายชุดที่สามบอกว่าไม่หล่ออีก คำบรรยายชุดที่สี่บอกว่ารับประทานน้อย ซึ่งฟังดูงงๆ เพราะคนรับประทานน้อยจะอ้วนหรือบึกบึนได้อย่างไร?



รายงานเหล่านี้อาจจะจริงหมดก็ได้ โดยผู้รายงานจงใจพูดแต่บางส่วน หรือใส่รสนิยมของตนเองลงไปในคำบรรยาย (ที่ว่าหล่อไม่หล่อ) หรือสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นจริงเฉพาะในช่วงเวลานั้นๆ (ท่านอาลีอาจจะบึกบึนตอนหนุ่ม และแก่แล้วอ้วนขึ้น) ทั้งนี้ทำให้ข้อมูลขัดกันได้ทั้งสิ้น



ไม่ว่าอย่างไร มันทำให้มีคนจินตนาการท่านอาลีออกมาได้แตกต่างกันอย่างมาก ตามภาพแนบนี้ซึ่งเป็นภาพของท่านอาลีทั้งคู่

 

จริงๆแม้เรื่องเราควรวาดภาพเหมือนบุคคลหรือไม่ก็เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่มุสลิม เพราะอัลกุรอานบอกเพียงว่าไม่ให้บูชารูปเคารพ แต่ไม่พูดเรื่องภาพวาดมนุษย์ การตีความว่ามุสลิมสามารถวาดภาพมนุษย์ได้หรือไม่จึงจำเป็นต้องใช้หะดีษอีก ซุนนีบางสำนักก็เคร่งครัดเรื่องนี้จนไม่ให้วาดภาพคนเลย (เพราะกลัวใครเอาไปบูชา) แต่ชีอะห์และซุนนีอีกบางสำนักผ่อนปรนเรื่องนี้มากกว่า

 

ที่มา : TwildC

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง