รู้จัก “โรคแอนแทรกซ์” ติดเชื้อจากไหน - อาการเป็นอย่างไร?

รู้จัก โรคแอนแทรกซ์ อันตรายแค่ไหน?
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคสัตว์ติดคนที่ร้ายแรง โดยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis เป็นสาเหตุสำคัญในการแพร่ระบาดของโรคนี้ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสัตว์และมนุษย์ โรคนี้สามารถทำให้สัตว์ตายอย่างรวดเร็วและสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสซากสัตว์หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อแบบสุกๆดิบๆ
สาเหตุและการแพร่โรคติดเชื้อในสัตว์ และ ในคน
โรคแอนแทรกซ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ที่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้เป็นเวลานาน การแพร่กระจายเกิดจากการหายใจ สัมผัส หรือบริโภคเชื้อที่ปนเปื้อนในดินหรือหญ้า ซึ่งสัตว์ที่ติดโรคจะเสียชีวิตภายในเวลา 1-2 วัน
อาการของโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์
สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เช่น มีไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว และเลือดออกจากช่องทวารต่างๆ ซากสัตว์จะขึ้นอืดและไม่แข็งตัว การตรวจสอบในซากสัตว์จะพบเลือดคั่งและม้ามขยายใหญ่
คนติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ได้อย่างไร? มีอาการแบบไหน?
ในคน โรคแอนแทรกซ์ สามารถเกิดได้จากการสัมผัสเชื้อผ่านบาดแผลหรือการบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยแบบสุกๆดิบๆ โดยแสดงอาการในหลายรูปแบบ:
- แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง: พบตุ่มพองและสะเก็ดสีดำที่แผล
- แอนแทรกซ์ที่ทางเดินอาหาร: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง และอุจจาระร่วง
- แอนแทรกซ์ที่ทางเดินหายใจ: อาการรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้เร็ว
- แอนแทรกซ์ที่ปากและคอหอย: มีอาการเจ็บคอและกลืนอาหารลำบาก
โรคแอนแทรกซ์ ป่วยแล้วรักษาหายไหม?
การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแอนแทรกซ์สามารถทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน หรือเตตร้าไซคลิน ซึ่งได้ผลดีเมื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิต
ป้องกัน โรคแอนแทรกซ์ ได้อย่างไร
การป้องกันโรคแอนแทรกซ์เริ่มจากการแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูงและเผาหรือฝังซากสัตว์อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการฉีดวัคซีนให้สัตว์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการฉีดทุกๆ 6 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี เมื่อสงสัยว่าสัตว์ตายจากโรคแอนแทรกซ์ ควรหลีกเลี่ยงการเปิดชำแหละซากและรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที การไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนและสัตว์อื่นๆ