รีเซต

นักศึกษามาเลเซียสร้างชุดเก็บปาล์ม ช่วยทุ่นแรง สู้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน

นักศึกษามาเลเซียสร้างชุดเก็บปาล์ม ช่วยทุ่นแรง สู้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน
TNN ช่อง16
13 ตุลาคม 2565 ( 11:11 )
92
นักศึกษามาเลเซียสร้างชุดเก็บปาล์ม ช่วยทุ่นแรง สู้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน

นักศึกษาวิจัยชาวมาเลเซีย พัฒนาชุดเสริมแรงสำหรับเก็บปาล์ม เพื่อช่วยทุ่นแรงของเกษตรกรในการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยหวังว่านอกจากจะช่วยลดความเมื่อยล้าจากการเก็บเกี่ยวได้ อาจจะเป็นตัวช่วยให้แรงงานเกษตรกรยังทำงานต่อไป ท่ามกลางวิกฤตความต้องการแรงงานที่พุ่งสูงทั่วประเทศ


ภาพจาก รอยเตอร์

ชุดแบบกระเป๋าสะพายสวมใส่ง่าย

ชุดดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับกระเป๋าสะพายหลัง ติดตั้งตัวรองรับบริเวณต้นแขน พร้อมตัวยึดโยงมีดเกี่ยวปาล์ม โดย ฮาซิก รามิล (Haziq Ramli) นักศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีในมาเลเซียระบุว่า ชุดที่สวมใส่จะะช่วยรับน้ำหนักบริเวณต้นแขน ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องยืดตัวมาก 


ภาพจาก รอยเตอร์

อีกทั้งยังช่วยทุ่นแรงในการถืออุปกรณ์และไม้เกี่ยว ซึ่งมีน้ำหนักราว 8 กิโลกรัม ทำให้ร่างกายรู้สึกตึงและล้าน้อยลง โดยข้อมูลจากทีมพัฒนาระบุว่า หนึ่งชุด จะช่วยลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อได้ถึง 22% และเพิ่มความทนทานของแรงในการเก็บเกี่ยวได้ถึง 47% ด้วยชุดนี้สิ่งที่เกษตรกรต้องทำ ก็เพียงแค่สวมชุดและเดินไปเก็บเกี่ยวเท่านั้น ซึ่งทีมวิจัยหวังว่าจะช่วยทำให้แต่ละคนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น


ภาพจาก รอยเตอร์

เป้าหมายการพัฒนาหวังช่วยลดความเมื่อยล้าของเกษตรกร

ผลงานชิ้นนี้เป็นการจับมือกันระหว่างบริษัทผู้เพาะปลูกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย ในการพัฒนาอุปกรณ์ชุดนี้ขึ้นมา เนื่องจากช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้ประเทศขาดแคลนแรงงานไปกว่า 120,000 คน กระทบต่อกำลังการผลิต จนต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทุ่นแรง เช่น การใช้โดรนลาดตระเวณ หรือการผลิตชุดดังกล่าว เพื่อช่วยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้มากขึ้น และอาจช่วยเรื่องการขาดแคลนแรงงานได้


ภาพจาก รอยเตอร์

 โดยทีมวิจัยระบุว่าปกติแล้วในการเก็บเกี่ยวผลปาล์ม 10 ตันต่อเดือน ต้องใช้แรงงานสองคน แต่ด้วยชุดที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ อาจจะทำให้แรงงานหนึ่งคน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 10 ตัน หรือทำงานในปริมาณเท่าเดิมโดยใช้แรงงานน้อยลง อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องใช้เวลาพัฒนาชุดต่อไปอีกสักระยะ กว่าที่จะสามารถช่วยทุ่นแรงงานได้ในระดับอุตสาหกรรม



ขอบคุณข้อมูลจาก

reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง