จีนเตรียมปรับปรุงงานสังเกตการณ์ 'ขยะอวกาศ'
ปักกิ่ง, 28 ม.ค. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (28 ม.ค.) สมุดปกขาวหรือรายงานทางการจากสำนักงานข้อมูลข่าวสารแห่งคณะรัฐมนตรีจีน หัวข้อ "โครงการอวกาศของจีน : ทัศนะ ปี 2021" (China's Space Program: A 2021 Perspective) เปิดเผยว่าจีนจะปรับปรุงการสังเกตการณ์ขยะในอวกาศในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อรับรองการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย มีเสถียรภาพ และเป็นระเบียบของระบบอวกาศ
สมุดปกขาวระบุว่า จีนจะกระชับการควบคุมการจราจรในอวกาศ และปรับปรุงระบบสังเกตการณ์ขยะในอวกาศ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และบริการเตือนภัยล่วงหน้า นอกเหนือจากนั้นจีนยังจะดำเนินการบำรุงรักษายานอวกาศในวงโคจร เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันและจัดการขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้น
ฐานข้อมูลที่เติบโตขึ้นทำให้การตรวจตราขยะอวกาศของประเทศสามารถแจ้งเตือนการชนกัน การตรวจจับเหตุการณ์ในอวกาศ ตลอดจนการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในอวกาศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งช่วยรับรองความปลอดภัยของยานอวกาศในวงโคจร
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการลดขยะอวกาศ (Space Debris Mitigation Guidelines) และแนวทางสำหรับความยั่งยืนระยะยาวของกิจกรรมนอกอวกาศ (Guidelines for the Long-term Sustainability of Outer Space Activities) จีนได้ใช้กระบวนการพาสซิเวชัน (Passivation) ให้จรวดท่อนบน (upper stage) ในจรวดขนส่งทั้งหมด โดยพาสซิเวชันหมายถึงการกำจัดแหล่งพลังงานสะสมที่เหลืออยู่บนจรวดออกไป ด้วยการทิ้งเชื้อเพลิงหรือคายประจุแบตเตอรี อันสามารถลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดขณะที่จรวดท่อนบนยังคงอยู่ในวงโคจร
จีนยังได้เสร็จสิ้นการออกจากวงโคจรของสถานีอวกาศเทียนกง-2 (Tiangong-2) และยานอวกาศอื่นๆ เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนในเชิงบวกต่อการลดขยะอวกาศ
ขณะเดียวกันจีนจะเสริมความแข็งแกร่งในการปกป้องกิจกรรมทางอวกาศ รวมถึงทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นๆ ในอวกาศ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการสำรองและการปกป้องข้อมูลจากภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มความทนทานและความอยู่รอดของกิจกรรมและทรัพย์สินเหล่านี้
สมุดปกขาวกล่าวว่า จีนจะขยายระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอวกาศด้วยการสร้างระบบใหม่ๆ ที่วางแผนไว้ โดยจีนจะศึกษาแผนการสร้างระบบป้องกันวัตถุใกล้โลก (NEO) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าติดตามวัตถุใกล้โลก รวมไปถึงจัดทำบัญชีรายชื่อ การแจ้งเตือนล่วงหน้า และการตอบสนองต่อวัตถุใกล้โลก
ทั้งนี้ จีนจะสร้างระบบตรวจสอบสภาพอากาศที่มีการบูรณาการอวกาศและภาคพื้นดินเข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้านสภาพอากาศในอวกาศที่เป็นอันตรายร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ