รีเซต

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: มรณกรรมของไรซี ฐานะ “เจ้าแห่งตะวันออกกลาง” ของอิหร่านจะสั่นคลอนหรือไม่?

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: มรณกรรมของไรซี ฐานะ “เจ้าแห่งตะวันออกกลาง” ของอิหร่านจะสั่นคลอนหรือไม่?
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2567 ( 19:09 )
13
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: มรณกรรมของไรซี ฐานะ “เจ้าแห่งตะวันออกกลาง” ของอิหร่านจะสั่นคลอนหรือไม่?

“อิบราฮิม ไรซี” ประธานาธิบดีของอิหร่าน พร้อมทั้ง ฮุซเซน อามีร์-อับดุลเลาะห์ฮิยาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เสียชีวิต


ไรซี เจ้าของฉายา “มือหั่นแห่งเตหะราน” เป็นผู้นำที่เป็น “อิสลามสุดโต่ง (Islamic Extremism)” เพราะเขาต้องการนำศาสนามากำกับทุกภาคส่วนในการดำเนินชีวิต อาทิ การแบ่งแยกสตรีออกจากเรื่องทางการเมืองและสังคม การทำให้อิสลามแทรกซึมในมหาวิทยาลัย หรือความภูมิใจว่าการปราบปรามผู้ชุมนุมในปี 1988 ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง


ในฐานะของการเป็น “เจ้าแห่งตะวันออกกลาง (Regional Hegemon)” ของอิหร่าน มรณกรรมที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมา นั่นคือ สถานะดังกล่าวของอิหร่านจะสั่นคลอนหรือไม่ การเปลี่ยนผู้นำจะทำให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และไปในทิศทางใด


อิหร่านกับการครองความเป็นเจ้าแห่งตะวันออกกลาง


อิหร่านนั้น จริง ๆ เป็นมหาอำนาจของตะวันออกกลางมาตั้งแต่สมัย “อารายธรรมเปอร์เซีย” เสียด้วยซ้ำ ดังที่เห็นได้จากการยึดครองแทบจะทั่วทั้งแถบนี้ เรื่อยไปจนถึงอียิปต์และตุรกี เรียกได้ว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนืออารยธรรมอื่น ๆ 


ทั้งยังได้มีการเผยแพร่อารยธรรมของตนให้เกิดการรับไปปรับใช้ในดินแดนรอบข้าง เรียกว่า “Persification” อย่างการสร้าง ทัช มาฮาล ที่โด่งดัง ก็รับมาจากเปอร์เซียเช่นกัน


กระนั้น เมื่อรัฐอิสลามเข้ามายึดครองเปอร์เซียให้เป็นส่วนหนึ่งของตน สถานภาพที่เคยยิ่งใหญ่ ก็กลับลดน้อยถอยลงไปมาก เป็นเพียงส่วนหนึ่งของดินแดนที่อาณาจักรใหญ่ ๆ แย่งชิงกัน ไม่ว่าจะเป็นมองโกล อาหรับ หรือรัสเซีย

ดังที่เรามักจะลดทอนอิหร่านลงไปเป็นอาหรับ ทั้งที่จริง ๆ พวกเขาเป็นเปอร์เซียแท้


การมาถึงของ “พระเจ้าโมฮัมหมัด เรซาร์ ชาห์ฮาวี” หรือ “พระเจ้าชาห์” ได้ฟื้นคืนสถานะความเป็นเจ้าแห่งตะวันออกกลางกลับมาอีกครั้ง นั่นเพราะชาห์ได้ดำเนินการให้ประเทศ “เป็นเยี่ยงตะวันตก (Westernisation)” หรือที่เรียกว่า “การปฏิวัติขาว (White Revolution)”


ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิสตรีในการแต่งกาย ดังที่เห็นได้จากการนุ่งกระโปรงสั้นของสาวอิหร่านในยุค 60s-70s การปฏิรูปจริยธรรมศาสนา เพื่อให้เกิดการตั้งสถานบันเทิง หนังสือที่มีภาพผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย หรือลดการเซนเซอร์ในโทรทัศน์


แต่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การเปิดความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและโลกตะวันตก โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” ที่ทำให้อิหร่านได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน การกำหนดนโยบายทางการคลัง หรือแม้กระทั่งระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบตลาดเสรี ซึ่งถือเป็นความใกล้ชิดที่มากกว่าใครในตะวันออกกลาง


ด้วยเหตุนี้ อิหร่านจึงสร้างเสริมสถานภาพ ให้พลิกกลับมาเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในฐานะ “หน้าด่าน” ของการเผยแพร่ความเป็นตะวันตกต่อความเป็นภราดรภาพของอิสลาม


หากนึกไม่ออก ให้นึกถึงการที่ไทยได้รับความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ให้เป็นหน้าด่านในการรับคุณค่าแบบตะวันตก เพื่อสู้กับเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์


อำนาจในภูมิภาคของอิหร่านที่มากขึ้น สังเกตได้จากการที่สามารถสั่งการให้กลุ่มโอเปกขึ้นราคาน้ำมันเพื่อทัดทานกับตะวันตก โดยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับพหุภาคี ซึ่งจริง ๆ ถือว่าผิดวิสัยอย่างมาก ที่ประเทศนิกายชีอะห์จะมาญาติดีกับนิกายซุนนี 


หรือแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือราชวงศ์ของโอมานและเยเมน ให้สามารถรักษาบัลลังค์จากฝ่ายซ้ายจัดในประเทศได้


ถึงแม้ต่อมา พระเจ้าชาห์จะถูกโค่นอำนาจ และอิหร่านเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยในฐานะรัฐอิสลาม แต่อิทธิพลของอิหร่านที่ชาห์สร้างมา ไม่ได้หายไปไหน อิหร่านยังคงครองความเป็นเจ้าได้ แต่ไม่ได้ทำไปเพื่อตะวันตก หากแต่ทำไปเพื่อ “เกียรติยศ” ของตนเอง ในฐานะลูกหลานอารยธรรมเปอร์เซีย


สังเกตได้จาก ในสงความอิหร่าน-อิรัก ที่เคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน แต่เมื่อมีการรุกราน ย่อมยอมไม่ได้ที่จะปล่อยปละละเลย


และในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ ทั้งหมดมาจากการที่อิหร่านมั่นใจว่าตนเองมีศักยภาพมากพอที่จะปราบปรามให้ประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางอยู่ในกำมือได้


ผู้นำเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน?


จะเห็นได้ว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของอิหร่าน คือการที่ชาห์ ได้นำความเป็นตะวันตกและมหาอำนาจโลกตะวันตกเข้ามา “เพิ่มอำนาจ” ให้สามารถสร้างแต้มต่อของประเทศ ให้กลับมาอยู่ในสถานะที่เคยเป็นในอดีตได้


ทั้งนี้ ในกรณีของชาห์ อาจมีคำถามตามมาว่า “ผู้นำ” เป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่ประเทศหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า เพียงคน ๆ เดียว ก็สามารถที่จะทำอะไรได้หลายอย่างมาก


ตรงนี้ ต้องเข้าในก่อนกว่า “บริบททางการเมือง” ของยุคชาห์และยุคปัจจุบันต่างกันโดยสิ้นเชิง


ยุคของชาห์ ประเทศปกครองด้วย “ระบอบราชาธิปไตย” แต่ยุคปัจจุบัน ปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง” ที่ถึงแม้จะอิงอยู่กับรัฐศาสนา แต่ที่มาของอำนาจ มาจากประชาชนที่เคร่งศาสนาทั้งนั้น


และเมื่อที่มาเป็นเช่นนี้ ทำให้ผู้นำเอง สามารถที่จะ “เปลี่ยนแปลงได้ตลอดระยะเวลาที่กำหนด” ส่วนมากคือ 4 ปี นั่นหมายความว่า ผู้คนย่อมเคยชินที่จะเปลี่ยนผู้นำเป็นเรื่องปกติ 


เงื่อนไขพฤติกรรมการเลือกตั้ง จึงไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจเพียงผู้เดียวของผู้นำ แต่อาจจะมาจากนโยบายพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด บุคลิกลักษณะของผู้สมัคร หรือกระทั่ง การเลือกอย่างเป็นเหตุผลต่อความเจริญของประเทศชาติ แม้จะไม่ชอบผู้สมัครนั้น ๆ 


กลับมาที่ไรซี แน่นอน เงื่อนไขทางการเมืองที่ผ่านมาของเขา คือการได้ใจพวก Extremism แต่กลับถูกประท้วงหนักจากกลุ่มอื่น ๆ อาทิ สตรี ผู้เป็นอนุรักษ์นิยมสายประนีประนอม หรือฝ่ายซ้ายในประเทศ ที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่เนือง ๆ


ไหนจะเรื่องของการบริหาร ที่จะต้อง “คานอำนาจ” กับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหากสมาชิกมาจากพรรคฝ่ายค้าน ย่อมเป็นงานยากของประธานาธิบดีอย่างช่วยไม่ได้


หรือก็คือ ไม่ว่าประธานาธิบดีอิหร่านจะใหญ่มาจากไหนก็ตาม แต่ระบบสถาบันทางการเมือง จะเป็นการทัดทานการใช้อำนาจที่จะทำอะไรบางอย่างในตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ไม่อย่างนั้น สถานภาพของประเทศที่เปลี่ยนแปลงทุก ๆ 4 ปี จะเป็นไปไม่ได้


เว้นเสียแต่เรื่องของ “การประกาศสงครามหรือการโจมตี” ที่กำหนดไว้ให้เป็น “กรณีพิเศษ” ที่ประธานาธิบดีจะสั่งการได้โดยไม่ต้องทำประชามติหรือสอบถามสภา 


เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจจะสรุปได้ว่า มรณกรรมของ อิบราฮิม ไรซี อาจจะสร้างความเศร้าโศกแก่ผู้สนับสนุนเขา แต่ก็ไม่ได้ทำให้อิหร่าน “อำนาจแกว่ง” แต่อย่างใด 


เพราะอย่าลืมว่า ในระดับการระหว่างประเทศ “ผู้นำ” กับ “ประเทศ” อยู่คนละระดับกัน เพราะผู้นำมาแล้วก็ไป แต่ประเทศอยู่ยืนยง ผู้นำเปลี่ยน แต่เกียรติยศของประเทศยังคงอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ต้องติดตามต่อไปว่า ท้ายที่สุด อิหร่านจะรักษาไว้ซึ่งผู้นำแบบ Extremism หรือจะได้ผู้นำแบบ Moderate กลับมาอีกครั้ง 


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง