รีเซต

ย้อนดู “ซาอุบูม” ในแรงงานไทยยุค 80s โอกาส “ขยับสถานะทางการเงินและสังคม”

ย้อนดู “ซาอุบูม” ในแรงงานไทยยุค 80s โอกาส “ขยับสถานะทางการเงินและสังคม”
TNN ช่อง16
10 พฤษภาคม 2567 ( 14:51 )
33

ประเด็นนี้ ทำให้นึกไปถึงในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เมื่อครั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียเบ่งบานถึงขีดสุด อาจจะเรียกได้ว่า “ซาอุบูม” ในประเทศไทยก็ว่าได้ เนื่องจากมีแรงงานไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ชาวอีสาน” ต่างยินดีที่จะเดินทางไปทำงานยังดินแดนเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ ไม่ว่าจะผ่านรัฐบาล หรือขายที่ดินทำกินเพื่อจ่ายค่านายหน้าก็ตาม


ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการตั้งคำถามที่ว่า เหตุใด ซาอุดิอาระเบียจึงเป็นที่นิยมของแรงงานไทยในยุค 80s มากมายขนาดนั้น แรงขับเคลื่อนใดที่เป็นเงื่อนไขสำคัญให้เกิดขึ้น ติดตามไปพร้อมกับเรา


พลิกประเทศด้วยทองคำนิลกาฬ


ต้องย้อนความก่อนว่า ซาอุดีอาระเบียในอดีต เป็นประเทศที่ยากจนถึงขีดสุด ขนาดที่ต้องรอรับการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว 


ก่อนที่ประเทศจะขุดค้นพบน้ำมัน หรือที่เรียกกันว่า “ทองคำนิฬกาล” ในยุค 30s-40s และเป็นช่วงที่โลกได้พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างถึงขีดสุด น้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนอย่างมาก


แน่นอน น้ำมันดิบเพียว ๆ ไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ เพราะต้องกลั่นเสียก่อน ซึ่งเวลานั้น ชาวซาอุฯ ยังไม่มีศักยภาพเช่นนี้ ดังนั้น จึงต้องนำเข้าวิทยาการจากโลกตะวันตก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันที่ขุดค้นพบ


และนั่นคือ “แรงงาน” ชุดแรกที่เข้ามายังซาอุดีอาระเบีย


แต่แรงงานเหล่านี้เป็น “White Collars” หรือแรงงานมีทักษะ ทำงานประเภทที่ต้องใช้หลักวิชา อาทิ วิศวกร สถาปนิก ผู้บริหาร หรือกระทั่ง นักวิทยาศาสตร์ ส่วนพวกที่เป็น “Blue Collars” หรือแรงงานทักษะไม่สูง ก็เป็นชาวซาอุฯ ในประเทศ 


เมื่อน้ำมันเป็นสินค้าแบบ “ตลาดแข่งขันน้อยราย” ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีอำนาจต่อรองราคาในตลาดน้ำมันโลกได้ในฐานะผู้ผลิตกึ่งผูกขาด เช่นนี้ ทำให้กำไรเข้าสู่ประเทศระดับมหาศาล และค่อย ๆ “Trickle-down” ลงมาสู่แรงงานทักษะต่ำในประเทศ 


ตรงนี้ จะเป็นการ “สะสมทุน” ของชาวซาอุดิอาระเบียจากการได้เปรียบเชิงตลาด จนแปรเปลี่ยนจากคนงานกลายเป็น “เศรษฐี” แทบทั้งประเทศ หรือกล่าวง่าย ๆ ตอนนี้ คนงานทักษะต่ำบ้านเขา อาจรวยกว่าเศรษฐีบ้านเราเสียด้วยซ้ำ


และก็ตามตำรา เมื่อมีอันจะกินมากขึ้น ประชาชนผู้ใช้แรงงานก็ไม่อยากทำงานแบกหามอีกต่อไป ปัญหาในยุค 60s-70s ของซาอุดิอาระเบีย จึงเป็นเรื่องของ “ตลาดงานมี แต่ไม่มีใครอยากทำ” 


ให้คิดตามว่า คนไทยที่เกิดในชนชั้นรากหญ้า แต่สามารถกู้ยืม กยศ. เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ย่อมไม่อยากทำงานประเภทเก็บขยะ กวาดถนน หรือพนักงานเสิร์ฟ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเข้า “แรงงานต่างด้าว” เข้ามาทำตรงนี้


ดังนั้น ซาอุดิอาระเบียจึง “เปิดกว้าง” ตลาดผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะ “ประเทศโลกที่สาม” ที่พอจะมีความรู้ มีการศึกษาอยู่บ้าง แต่ค่าแรงไม่แพง สามารถเข้ามาแล้วเป็นงานได้ในทันที ไม่ต้องอบรมสั่งสอนมากนัก และแรงงานไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น 


เสี่ยงดวงไปถึงซาอุ ยกมือสาธุ หมดนา หมดไร่


ในช่วง 60s-70s ประเทศไทยได้มีการจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1” โดยเน้นหนักไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ผ่านการรับทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะ ทุนญี่ปุ่น ให้เข้ามาเป็นนายหน้าเพื่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพแรงงาน 


อุตสาหกรรมในประเทศจึงเป็นเรื่องของ “เจแปนบูม” เพราะถือว่าได้รับค่าจ้างระดับมหาศาลกว่าการทำไร่ทำนาหลังขดหลังแข็งตามชนบท ทั้งยังทำให้เกิด “ความนิยมเป็นญี่ปุ่น” ไปทั่วบ้านทั่วเมือง ดังกลอนแปดของ ศักดา จินตนาวิจิตร ที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่จิกกัดนิสัยการบริโภคสินค้าญี่ปุ่นของคนไทย ความว่า  


“เช้าตื่นขึ้นมารีบคว้าก่อน         

ไวท์ไลอ้อนสีฟันมันหนักหนา 

เนชั่นแนลหม้อหุงปรุงน้ำชา        

แต่งผมทาน้ำมันชื่อตันโจ 

นุ่งผ้าไทยโทเรเทโตรอน        

ครั้นถึงตอนออกไปคาดไซโก้ 

ข่าวประชาสัมพันธ์ฟังซันโย        

เอารถโตโยต้าขับไปรับแฟน

ไปชอปปิ้งที่ไหนหละถึงจะหรู        

ไดมารูของหลากมากหลายแสน 

ทั้งของใช้ของกินอินเจแปน        

มาจากแดนไกลลิบชื่อนิปปอน 

แฟนซื้อเครื่องแต่งหน้าคาเนโบ้   

ชิเซโด้ โพล่า เอามาก่อน 

ชุดชั้นในวาโก้ทรงโตมร        

แสนสุโขสโมสรด้วยออนเคียว 

กลับบ้านเปิดทีวีโตชิบา        

เปิดช่องหากาโม่ เคนโด้ เดี่ยว 

นั่งตบยุงดูไปได้หน่อยเดียว        

หาที่เที่ยวนวดถูซาบุริ ในชีวิตประจำวันทันสมัย        

ชักสงสัยหัวเราะเราเข้าแล้วสิ 

ถามกระจกชื่อว่าอาซาฮิ        

ตัวกูนี่คนไทยใช่ไหมวะ ?”


แต่แน่นอน เมื่อรายได้ดี ทำให้เกิดการที่ภาคชนบทกระสันเข้าภาคแรงงานมากยิ่งขึ้น และเมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน และตัวเลือกมีทักษะที่ใกล้เคียงกัน บริษัทย่อม “กดค่าแรง” ได้โดยง่าย


ดังนั้น บรรดาผู้คนจากชนบท หรือบรรดาภาคแรงงานที่รู้สึกว่า “ค่าจ้างไม่เป็นธรรม” จึงต้องพยายามหาหนทางที่จะ “ขยับสถานะ” ของตนให้จงได้ ดังนั้น การไปทำงานต่างประเทศ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะไปทำงานใด ๆ ก็ตาม


ประจวบเหมาะกับที่ซาอุดีอาระเบียต้องการพอดี แรงงานไทยจึงแห่แหนกันไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียอย่างหนาตา


ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ที่เห็นได้ชัด นั่นคือ “การขนเงินกลับประเทศ” ในระดับที่มหาศาล ช่วยสร้างเสริมจีดีพี รวมไปถึงกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่ง ณ ตอนนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขับเคลื่อนไทยเป็น “เสือเอเชีย” เลยทีเดียว ถึงขนาดที่วงคาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดัง ได้ทำการแต่งเพลงสะท้อนเรื่องดังกล่าว นามว่า “ซาอุดร” โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้ 


“เขียนป้ายไปปักไว้ บอกคนทั้งหลายว่าอยากขายที่นา นำทรัพย์สินเงินตรา จากขายที่นาตีตั๋วเครื่องบิน จะไปซาอุ บอกเมียและลูกน้อย คอยพี่หน่อยพ่อหน่อยเถิดหนา อีกไม่นานกลับมาเยี่ยงราชาเงินทองล้นกาย จะมีโทรทัศน์วิทยุ สเตอริโอ บ้านตึกหลังโตโต โอ้ฮะโอ นั่งกินนอนกิน เขียนป้ายไปปักไว้ บอกคนทั้งหลายว่าอยากขายที่ดิน ทิ้งถิ่นฐานทำกิน ตีตั๋วเครื่องบินไปหากินแดนไกลจะไปซาอุ เบื่อทำไร่ไถนาทำได้มาไม่พอได้กิน กลัวลูกเก็บดินกิน อย่างที่หนังสือพิมพ์เขาลง บอกเมียรอหน่อยหนา อย่าเผลอใจไปมีชู้ จับได้เป็นน่าดู จู้ฮุกกรู ไม่นานน้องยา ซาอุดิจะแรงจะร้อนระอุปานใดอ้ายก็จะทน จะยอมอดเหล้าเอาเงินสะสม จะข่มจิตใจไม่เล่นไฮโล เชื่อพี่เถิดน้องพี่ไม่ได้ร้องเพลงหลอก จะเอาเงินใส่กระบอกหอบมาเป็นกระบุง ขนมาให้น้องฝากธนาคาร ขายที่นาได้แล้ว เจอคนแจวรับส่งคนงาน จ่ายเงินจ่ายหลักฐาน ได้ไม่นานเขาพาไปขึ้นเครื่องบิน จะไปซาอุ เกิดมาเป็นคนจนยามคบคนไม่เคยเป็นต่อ คิดคิดไปใจท้อ คนหนอคนยิ่งจนยิ่งเจ็บ เก็บเงินเราไปแล้ว เรือบินแจวลงจอดบนลาน บนแผ่นดินอีสาน ขนานนามว่า ซาอุดร”


จากเนื้อเพลง จะเห็นได้ว่า การไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบีย ไม่ต่างจาก “การขุดทอง” และสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตจากชนชั้นรากหญ้า ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หรืออาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า “การขยับสถานะทางการเงินและสังคม” ไปพร้อม ๆ กัน


แต่แล้ว การสร้างฝันของแรงงานไทย ก็กลายเป็นหมันในทันที เนื่องจากเหตุการณ์ “เพชรซาอุ” กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียนานกว่า 3 ทศวรรษ


มาถึงตรงนี้ อาจทำให้พอจะเข้าใจ “ตรรกะ” ของบรรดา “ผีน้อย” ที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ในปัจจุบัน เพราะในโลกของแรงงานแล้ว ตลาดภายในประเทศที่ค่าจ้างไม่ได้ขยับและสถานภาพไม่ได้เขยื้อน ย่อมเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ใจแก่พวกเขาอย่างมาก 


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง