รีเซต

ห่วงโควิด-19 ชายแดนเมียนมา-มาเลย์ ทะลักเข้าไทย สธ.ยันเปิดปท.อย่างปลอดภัย

ห่วงโควิด-19 ชายแดนเมียนมา-มาเลย์ ทะลักเข้าไทย สธ.ยันเปิดปท.อย่างปลอดภัย
มติชน
14 ตุลาคม 2563 ( 13:59 )
64
ห่วงโควิด-19 ชายแดนเมียนมา-มาเลย์ ทะลักเข้าไทย สธ.ยันเปิดปท.อย่างปลอดภัย
ห่วงโควิด-19 ชายแดนเมียนมา-มาเลย์ ทะลักเข้าไทย สธ.ยันต้องเปิดประเทศอย่างปลอดภัย

 

วันนี้ (14 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สถานการณ์ของประเทศเทศไทยถือว่าดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับกว่า 100 วัน มีผู้ป่วยยืนยันใหม่เพียง 1 ราย และเป็นการตรวจคัดกรองในเรือนจำ

 

“ยืนยันว่าระบบคัดกรองผู้ที่จะเข้าเรือนจำ ยังสามารถทำงานได้อย่างดี และหลังจากนั้น ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติม ต่อมาเมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม ระบบตรวจคัดกรองพนักงานขับรถข้ามแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ตรวจพบพนักงานขับรถชาวเมียนมา ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย แม้ว่าในรัฐที่ใกล้ อ.แม่สอด จะมีการรายงานผู้ป่วยไม่มาก แต่เนื่องจากพนักงานขับรถบางรายขับรถขนส่งไปค่อนข้างไกล ทีมสอบสวนโรคจึงได้ดำเนินการคัดกรองเพิ่มเติม โดยรายงานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม คือ 1.คัดกรองรถที่ผ่านพรมแดน แม่สอด 163 คัน เป็นพนักงานขับรถ 163 ราย ผู้โดยสาร 18 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อ 2.การคัดกรองในชุมชน การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจเมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม จำนวน 4,189 ราย ผลตรวจ 1,194 ราย เป็นลบ และที่เหลือยังรอผลการตรวจแล็บ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยเขิงรุกด้วยรถชีวนิรภัยพระราชทานในชุมชนเสี่ยง 3 แห่ง และจัดพื้นที่ทำการส่งสินค้า ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานขับรถ การคัดกรองคนไทยที่ข้ามพรมแดนแม่สอด 100% พร้อมทั้งทำการสรุปบทเรียนในการค้นหาผู้ป่วยว่ายังไม่ได้ตรวจประชากรในกลุ่มใดบ้างหรือไม่ ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม นายธนิตพล ไชยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ลงพื้นที่ค่ายอพยพแม่หละเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค จากส่วนกลาง ลงไปยังพื้นที่ ได้แก่ 1.แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ 2.ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ 3.ทีมสื่อสารความเสี่ยง และ 4.วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็น หน้ากากอนามัย 2,000 ชิ้น น้ำยาสำหรับเก็บและส่งตัวอย่างเพื่อตรวจโควิด-19 อีก 1,000 หลอด ชุดอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง 3,000 ชุด และชุดตรวจโควิด-19 แบบให้ผลเร็ว 1,000 ชุด

 

“ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง การคงมาตรการที่เข้มข้น การรักษาระดับความปลอดภัย การใช้ชีวิตของคนตามแนวชายแดนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระยะกลางและระยะยาวต่อไป ในปัจจุบันหลังจากที่เราตรวจพบพนักงานขับรถ 3 ราย ตั้งแต่วันที่ 9-10 ตุลาคม ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม และยังไม่พบคนไทยติดเชื้อเพิ่มเติมจากที่พบผู้ติดเชื้อชาวเมียนมา อย่างไรก็ตาม จะต้องปรับปรุงระบบให้ปลอดภัย การจัดการค้าขายแนวชายแดน มีความสามารถติดตามตัวชาวเมียนมาที่เข้าไทยได้อย่างครบถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดยาวนานที่สุด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศใกล้เคียงของไทย คือ มาเลเซีย และ เมียนมา ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีเท่าที่ควร แม้ว่าเมียนมาจะมีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะสามารถชะลอการระบาดได้ แต่ยังไม่สามารถยุติการระบาดได้ ดังนั้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อเนื่อง ในการพบผู้ป่วยข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะชายแดนไทย-เมียนมา หรือ ไทย-มาเลเซีย เข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เช่น การดูแลระบบจัดการค้าขายแนวชายแดน การนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงแนวคิดเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ว่า สธ.มีนโยบายสนับสนุนให้เปิดประเทศอย่างปลอดภัย ขณะนี้จุดขายของประเทศไทยที่หลายประเทศอยากเข้ามา เพราะไม่มีการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น หากดูแลการเดินทางเข้าประเทศได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะเกิดการระบาด และหลังจากนั้นแนวคิดการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ก็คงจะต้องพับไป เพราะในขณะที่ประเทศมีการระบาด คงมีน้อยคนที่อยากเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวในประเทศเรา ดังนั้น ในขณะนี้ที่เรามีแนวคิดส่งเสริม สนับสนุนให้การเปิดประเทศเป็นไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ตนยืนยันกับประชาชนทุกคนว่า สธ.จะช่วยดูแลประเทศและประชาชนให้มีความปลอดภัยสูงสุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง