รีเซต

อคส.ขยายธุรกิจต่างประเทศ นำร่องเมียนมาร์ ผุดคลังสินค้า-จัดหาวัตถุดิบ

อคส.ขยายธุรกิจต่างประเทศ นำร่องเมียนมาร์ ผุดคลังสินค้า-จัดหาวัตถุดิบ
มติชน
4 มีนาคม 2565 ( 13:39 )
73

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) เปิดเผยว่า ทางอคส. ลงนามบันทึกความเข้าใจ( MOU) กับบริษัท MAHA SHWE NGWE (MSN) ของเมียนมาร์ เพื่อหาช่องทางร่วมลงทุนสร้างคลังกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเอกชนไทย พร้อมดันยอดส่งออกและแก้ปัญหาการค้าชายแดนช่วงสถานะการณ์โรคระบาด โควิด-19 รวมถึงรองรับแพลตฟอร์มออนไลน์ ในตลาดประเทศเมียนมาร์ นอกจากนี้ ยังวางแผนการร่วมมือส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้ากว่า 2 ล้านตันต่อปี และ กากถั่วเหลืองสำหรับผลิตอาหารสัตว์อีกกว่า 2 ล้านตันต่อปีเช่นกันจากกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางวัตถุดิบการเกษตรและไม่ซ้ำซ้อนแข่งขันกันเองกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตถั่วเหลืองน้อยมากไม่ถึง 0.1 ล้านตันต่อปี เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการปลูกเมื่อเทียบกับประเทศเมียนมาร์

 

” เมียนมาร์ ถือเป็นประเทศแรกที่เกิดความร่วมมือดังกล่าว และเป็นการขยายสาขาคลังสินค้าในต่างประเทศ เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้ง อคส. ในปี 2498 ซึ่ง อคส. ยังอยู่ระหว่างการเจรจาในประเทศอื่นๆ ซึ่ง จะสนับสนุนให้มีการส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเป็นรูปแบบ Just-in-Time สร้างความได้เปรียบและแตกต่างจากประเทศคู่แข่งให้เอกชนไทย โดยก่อนหน้านี้ที่มีการหารือ อาทิ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ยังติดในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด จึงอยู่ในขั้นตอนเจรจา ”

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อคส. ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานภายในซึ่งสนับสนุนภาระกิจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมามีงบประมาณใช้สอยอย่างจำกัด แต่ในทางตรงกันข้ามมีภาระกิจที่จะต้องสร้างยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกๆปี โดยการส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัว 17.14% สูงสุดในรอบ 11 ปี ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐและล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม 2565 ขยายตัว 8% มูลค่า 708,312 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยภายใต้ยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” ของ อคส. จะดำเนินแผนการเพิ่มจำนวนสาขาขององค์การคลังสินค้าทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ อคส. ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่อยู่ดำเนินการ คือ คลังราษฎร์บูรณะ เป็นเรือธงหลักของ อคส. อยู่ในระหว่างขอขยายใบอนุญาติห้องเย็น หากได้รับการอนุมัติและสร้างเต็มพื้นที่จะสามารถรองรับได้กว่า 50,000 ตันและพลิกฟื้นฐานะ อคส. ให้กลับมามีกำไรอย่างมั่นคงได้ รวมทั้งยังสร้างเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องให้ อคส. ได้มากกว่า 8,000 ล้านบาท จากการทำ securitization (แปลงสินทรัพย์เป็นทุน) ของคลังราษฎร์บูรณะเมื่อสร้างเต็มพื้นที่

 

นอกจากนี้ แม้ประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 มากว่า 7 เดือนในปี 2564 แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ อคส. สามารถเพิ่มสาขาได้ เช่น คลังข้าวลพบุรี พบที่ดินของธนารักษ์ 22 ไร่ สามารถสร้างโรงอบ โรงสี โรงแป้งข้าวเจ้าได้ ซึ่งจะบรรลุเป้าหมาย ชาวนาปลูกข้าวขายแป้งจากข้อเท็จจริง ข้าวสาร ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่แป้งข้าวเจ้าราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ สร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่ชาวนากว่า 10,705 ครอบครัว บนพื้นที่กว่า 233,796 ไร่ ลดภาระงบประมาณได้กว่า 700 ล้านบาทต่อปี และยังลดภาระการลงทุนของภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง รวมถึงแผนการเพิ่มสาขาของ อคส ในภูมิภาคอื่นๆ เช่น คลังแพะ(กระบี่) คลังวัว(สุรินทร์) คลังอาหารทะเล(อุดรธานี) เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทรัพย์สินเดิมของ อคส เช่นการพัฒนาคลังธนบุรี คลังปากช่องและคลังบัวใหญ่ ให้สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ อคส เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนทุกโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง