พบจุดสว่างสุดในจักรวาล ! และมันกลืนกินดวงอาทิตย์เข้าไปใหม่ทุกวัน
นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียร่วมกับหอดูดาวยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory หรือ ESO) ตรวจพบจุดที่สว่างที่สุดในจักรวาล เป็นหลุมดำมวลมหาศาลที่อยู่ห่างจากโลกเราไป 12,000 ล้านปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 17,000 ล้านเท่า และสว่างกว่าถึง 500 ล้านล้านเท่า มันจะกลืนมวลสารที่มีค่าเท่ากับดวงอาทิตย์ของเราเข้าไปใหม่วันละ 1 ดวง ทำให้กลายเป็นหลุมดำที่เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา
หลายคนอาจจะมีข้อแย้ง เพราะหลุมดำมีแรงโน้มถ่วงสูงมาก ๆ จนแสงไม่สามารถหลุดออกมาได้ จนทำให้มันเป็นสิ่งที่ดำมืดที่สุดในจักรวาล แล้วหลุมดำนี้กลายเป็นจุดที่สว่างที่สุดในจักรวาลได้อย่างไร ซึ่งคำอธิบายก็คือ จริง ๆ แล้วแสงสว่างนี้ ไม่ได้มาจากจุดศูนย์กลางของหลุมดำ แต่มาจากจานสะสมมวลสารที่หมุนอยู่รอบ ๆ มัน ด้วยแรงโน้มถ่วงที่สูงมาก ๆ จนสามารถทำให้เวลาและอวกาศบริเวณนั้นบิดเบี้ยวได้ เกิดเป็นสิ่งที่ปั่นป่วนมาก ๆ ที่เรียกว่าควอซาร์ และปล่อยพลังงานแสงและความร้อนออกมา ในจักรวาลของเรามีควอซาร์อยู่นับไม่ถ้วน สำหรับควอซาร์ที่ค้นพบว่าสว่างที่สุดนี้คือ ควอซาร์ J059-4351
รองศาสตราจารย์คริสเตียน วูล์ฟ (Christian Wolf) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และเป็นผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้ได้อธิบายลักษณะของควอซาร์นี้ว่าเหมือน “เซลล์พายุแม่เหล็กขนาดมหึมาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 ปีแสง มีอุณหภูมิ 10,000 องศาเซลเซียส มีฟ้าผ่าทุกหนทุกแห่ง มีลมที่พัดแรงมาก ๆ ขนาดที่สามารถหมุนวนรอบโลกได้ในเสี้ยววินาที”
แม้นี่จะเป็นจุดที่สว่างที่สุดในจักรวาล นึกภาพตามเผิน ๆ อาจจะคิดว่ามันควรมองเห็นได้อย่างง่ายดาย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจักรวาลนั้นกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน จนทำให้การมองเห็นนี้ยากมาก ๆ ทั้งนี้ในปี 1980 หอดูดาวยุโรปตอนใต้ก็ได้สำรวจอวกาศบริเวณที่ตั้งของควอซาร์นี้เช่นกัน แต่มันสว่างจน AI ที่วิเคราะห์ในสมัยนั้นชี้ว่าเป็นดาวฤกษ์ จากนั้นในการศึกษานี้มันได้รับการศึกษาอย่างละเอียดโดยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.3 เมตรที่หอดูดาวไซดิงสปริง (Siding Spring) ในออสเตรเลีย และกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่มากของหอดูดาวยุโรปตอนใต้ (European Southern Observator) ในชิลี จนทำให้พบว่า "นี่คือจุดที่สว่างที่สุดในจักรวาล" นั่นเอง
การค้นพบครั้งนี้ ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ แอสโตรโนมี่ (Nature Astronomy) ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2024
ที่มาข้อมูล NewAtlas, Scitechdaily, ESO
ที่มารูปภาพ ESO