ทล. อัพเดท!พื้นที่ได้รับผลกระทบจาก"พายุโนอึล"
วันนี้ ( 19 ก.ย.63) นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ผลกระทบจากพายุโซนร้อนโนอึล จากบริเวณพื้นที่จีนใต้ตอนกลาง ที่ได้เคลื่อนผ่านประเทศเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในขณะนี้ และได้ส่งผลกระทบเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น
ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย โดยได้สั่งการหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย สำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท และหมวดบำรุงทางหลวงชนบท ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที โดยแบ่งการเตรียมความพร้อมรับมือเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ก่อนเกิดเหตุ
- ดำเนินการทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำ ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชที่ขวางทางระบายน้ำ ท่อลอด สะพาน
- เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ สะพานเบลีย์ สนับสนุนยานพาหนะ อุปกรณ์การขนส่ง
พร้อมสนับสนุนการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย
- เตรียมป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง (กำหนดช่องจราจร) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน กรณีมีน้ำท่วมสูง ถนนขาด/สะพานขาด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
- ตัดแต่งกิ่งไม้ในเขตทางหลวงชนบท เพื่อป้องกันกิ่งไม้ตกหล่น หักโค่น เมื่อเกิดพายุ หรือลมพัดรุนแรง
- ตรวจสอบข้อมูลสายทางที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงกรณีดินถล่มบริเวณไหล่เขาและสายทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย โดยให้หน่วยงานในสังกัด จัดชุดลาดตระเวนสำรวจพื้นที่เสี่ยงและเข้าดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์
2. ขณะเกิดเหตุ
- บริหารจัดการเส้นทางและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน กรณีเส้นทางผ่านไม่ได้ให้จัดหาทางเลี่ยงพร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานของจังหวัดในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที เมื่อได้รับการร้องขอ
- กรณีถนน/สะพานขาด ขอให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ชั่วคราว เช่น วางสะพานเบลีย์ ถมดินคอสะพาน
- กรณีต้นไม้หักโค่น ปิดทับ/กีดขวางเส้นทาง ให้รีบนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการทันที เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้
- เข้าพื้นที่สำรวจความเสียหาย ประมาณการค่าซ่อมแซมเบื้องต้นและเตรียมเข้าซ่อมทันที เมื่อผ่านวิกฤต ให้สามารถเปิดการจราจรชั่วคราวได้
- ให้หน่วยงานในพื้นที่ ประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานทหารในพื้นที่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบภัยพิบัติให้ผู้บริหารได้รับทราบจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
3. หลังน้ำลด
- หลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ หากตรวจพบสายทางที่เกิดความเสียหายรุนแรง ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ภายใน 7 วัน
- เข้าดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา พร้อมภาพถ่ายสภาพความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูต่อไป
สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ล่าสุด สำนักบำรุงทางมีรายงานว่า มีถนนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และดินสไลด์ ในโครงข่ายทางหลวงทั้งหมด 7 จังหวัด รวม 21 แห่ง ซึ่งประชาชนยังสามารถสัญจรไป-มาได้ ได้แก่
1. จ.ขอนแก่น ประสบน้ำท่วม 2 แห่ง
2. จ.นครราชสีมา 5 แห่ง
3. จ.ศรีสะเกษ 3 แห่ง
4. จ.อุบลราชธานี 1 แห่ง
5. จ.นครสวรรค์ 1 แห่ง
6. จ.เพชรบูรณ์ 8 แห่ง
และ 7. จ.ระนอง 1 แห่ง
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE