รีเซต

ชุมชนห้วยห้อมเชียงแสน พื้นที่งามมีราคาริมโขง อาจถูกบุกรุก!!!

ชุมชนห้วยห้อมเชียงแสน พื้นที่งามมีราคาริมโขง อาจถูกบุกรุก!!!
77ข่าวเด็ด
4 กรกฎาคม 2563 ( 06:49 )
138
ชุมชนห้วยห้อมเชียงแสน พื้นที่งามมีราคาริมโขง อาจถูกบุกรุก!!!

 

เชียงราย-ชาวเชียงแสนเฝ้าติดตามประเด็นการใช้พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ผืนป่าสุดท้ายใกล้ริมฝั่งน้ำโขง ตรงข้ามเขตเศรษฐกิจพิเศษดอกงิ้วคำ

4 ก.ค.63 ชาวเชียงแสน จ.เชียงราย ยังเฝ้าติดตามประเด็นการใช้พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ และการเร่งประกาศเขตป่าชุมชนห้วยห้อม ผืนป่าสุดท้ายใกล้ริมฝั่งน้ำโขง ตรงข้ามเขตเศรษฐกิจพิเศษดอกงิ้วคำ ซึ่งการประกาศเขตป่าชุมชนห้วยห้อม มีเงื่อนงำน่าสงสัยที่ติดผู้นำชุมชน ไม่นำคำสั่งประกาศมาให้ชาวบ้านได้ทราบ อาจส่งผลต่อการตั้งเขตป่าชุมชนกว่า 2,167 ไร่ ที่อาจจะตกไป ทำให้ง่ายต่อการบุกรุกของเอกชนและกลุ่มนายทุนได้ เนื่องจากราคาที่ดินโดยรอบพุ่งสูงกว่า 10 เท่า ไร่ละ 2-3 ล้านบาทไปแล้ว

 

 

หลังจากที่ ชาวบ้าน 200 คน จากบ้านเวียงเหนือ หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่องถึงเหตุที่มีข่าวที่ว่า มีการเสนอตั้ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 วิทยาเขตห้วยเกี๋ยง และวิทยาลัยเทคนิคเชียงแสน ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเลี้ยงสัตว์และบ่อขยะเชียงแสน ซึ่งอยู่ในเอกสาร หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสร.) ราว 980 ไร่ บ้านห้วยเกี๋ยง ตำบลเวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยเสนอใช้พื้นที่ ต่อที่ประชุมวัดผ้าขาวป้าน อ.เชียงแสน ไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.63 ที่ผ่านมา โดยมี ปลัดอำเภอตัวแทน นายปกรณ์ สุริวรรณ นายอำเภอเชียงแสน และ ผู้ใหญ่บ้าน และหลายภาคส่วนร่วมด้วย ซึ่งในที่ประชุม ตัวแทนชาวบ้าน เช่น นายคงฤทธิ์ วังมณี ,นายชาติชาย ทาลังกา ,นายวุฒิชัย ยานะ ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนแรกชาวบ้านได้รับแจ้งเสียงตามสายว่า ให้มาประชุมกันเรื่องป่าชุมชนห้วยห้อม แต่เมื่อมีประเด็นหารือในเรื่องสถาบันการศึกษานี้ด้วยทำให้เกิดข้องสงสัยตามมา

 

 

ในเรื่องการจัดการการใช้ที่ดินที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสร.) ราว 980 ไร่ และ การดำเนินการตั้งป่าชุมชนห้วยห้อม ที่อยู่ไม่ห่างกันบางส่วนติดต่อกันจากที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ไปทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ราว 5-6 ก.ม.เท่านั้น ถือว่าเป็นผืนป่าใหญ่ผืนสุดท้ายในบริเวณนี้ ซึ่งจากการที่ผู้สื่อข่าวและแกนนำชาวบ้านไปสำรวจพบว่า มีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก มีต้นไม้ใหญ่ เช่นไม้ประดู่ ไม้สัก ไม้ไผ่ และสัตว์ป่าจำพวก อีเห็น ไก่ป่า ฯลฯ และ ชาวบ้านที่เลี้ยงกระบือในทุ่งเลี้ยงสัตว์ ก็ยังนำกระบือเดินจากทุ่งเลี้ยงสัตว์ ไปกินน้ำและเล่นน้ำในอ่างเก็บน้ำคึกฤทธิ์ ซึ่งสร้างสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็น นายกรัฐมนตรี แล้วให้งบสร้างมาราวปี 2518-2519 กว้างนับสิบไร่และมีน้ำพอต่อการเลี้ยงสัตว์เพราะป่ามีความชุ่มชื้นจนเป็นแหล่งต้นน้ำได้

 

 

ประเด็นการพิจารณาเรื่องทุ่งเลี้ยงสัตว์จะเหมาะนำมาสร้างสถาบันการศึกษาสองแห่งได้หรือไม่นั้นยังต้องเป็นประเด็นถกกันน่าจะอีกหลายการประชุม ทั้งหมู่บ้าน และตำบล เพราะข้อมูลการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อคนเลี้ยงสัตว์ และหากมีการสร้างได้และเปิดการเรียนการสอนจริงจะมีผลต่อนักเรียนหรือจากกลิ่นบ่อขยะ และจะเป็นการใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่ เพราะสองแห่งใช้งบรวม เกือบ 300 ล้านบาท  แต่ในส่วนของป่าห้วยห้อม มีเนื้อที่วัดจากจีพีเอสของป่าไม้ ได้ราว 2,167 ไร่ แต่ต่อมามีการเดินสำรวจรังวัด กลับเหลือพื้นที่เพียง 1,874 ไร่

 

และมีการเสนอให้เป็นป่าชุมชน เมื่อ 6 สิงหาคม 2562 ตามนโยบายรัฐบาล แต่ติดปัญหาที่ผู้นำชุมชน  กลับไม่ยอมนำเอกสารมาติดประกาศให้ชาวบ้านทราบ เพื่อตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน 16 คน เสนอทางจังหวัดและอธิบดีกรมป่าไม้ลงนามรับรอง ชาวบ้านสงสัยว่ามีเงื่อนงำ เพราะเรื่องนี้มาแดงขึ้น เมื่อ มีผู้นำชุมชนบางคน ไปแจ้งจับชาวบ้านคนหนึ่งว่าบุกรุกป่าชุมชนห้วยห้อม ซึ่งชาวบ้านคนดังกล่าวยอมรับผิดจริง เพราะรุกที่เข้าไปเพราะมีสวนติดที่ป่าห้วยห้อม และยอมถอยออกจากที่ดินไปแล้ว

 

ชาวบ้านจึงไปถาม ผู้นำชุมชนจึงยอมบอกความจริงว่า มีการอนุมัติให้มีการดำเนินการเป็นป่าชุมชนห้วยห้อมมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการต่อ ในการตั้งคณะกรรมการ และนำป่าไม้ลงพื้นที่ให้ความเข้าใจกับชาวบ้านแล้วรีบประกาศเขตป่าชุมชนห้วยห้อมให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ซึ่งขณะนี้ใกล้ถึงระยะเวลากำหนด ซึ่งหากล่าช้าไปชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการประกาศเขตป่าห้วยห้อม แน่นอน และอาจทำให้ไม่เกิดเป็นป่าชุมชน แต่จะลดระดับเป็นได้แค่ป่าเสื่อมโทรม

 

 

ป่าห้วยห้อม นั้น นอกจากจะใกล้ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์เชียงแสนแล้ว ยังอยู่ระหว่าง อ.เชียงแสน และ สามเหลี่ยมทองคำ ห่างจากถนนสายเชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ แค่ 2-3 ก.ม. เท่านั้น มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ เป็นเนินเขาสลับกับนาและสวนสับประรด มีถนนลาดยางและลูกรังผ่านเข้าไปบริเวณที่ โดยทราบว่านาข้าวของชาวบ้านส่วนมากมีโฉนดครอบครอง ส่วนสวนสับประรดมีทั้งโฉนดและ สปก.4-01 จัดได้ว่าเป็นพื้นที่สวยงามทางเศรษฐกิจอย่างมาก และ ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน ในฝั่งเมืองต้นต้น แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษดอกงิ้วคำ

 

ซึ่งมี กลุ่มคิงโรมัน เข้ามาก่อสร้างคาสิโนขนาดใหญ่ พร้อมตึกที่พักโรงแรมจำนวนมาก มีการเร่งสร้างสนามบิน ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมีการข้ามแดนไปยังเขตเศรษฐกิจนี้จำนวนมาก ช่วงก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาด ถือเป็นจุดขายของเชียงแสน อันสำคัญอันหนึ่งของนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่นิยมมาเสี่ยงโชค ชาวบ้านบางคนบอกว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้ เขตป่าห้วยห้อม ในอดีตเมื่อ 20-30 ปี ราคาไร่ละไม่กี่แสนบาท เพราะทำอะไรไม่ได้มากนอกจากทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ก่อนจะมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

แต่เมื่อปัจจุบันมีคนย้ายถิ่นฐานมาทำงานกันมากขึ้นตามความเจริญ ราค่าจึงขยับขึ้นเป็นสิบเท่า หากมีโฉนดขายกัน 100 ตารางวา ราว 8 แสนบาท หรือ ไร่ละ 3,200,000 บาท ไปแล้ว ยิ่งถ้าเป็นที่ดินใกล้หรือติดแม่น้ำโขงยิ่งไม่ต้องบอกว่าราคาหลายแปลงจะทะลุเกินไร่ 10-50 ล้านบาท อย่างแน่นอน

 

 

ก่อนหน้านี้ ทาง กรมที่ดินเคยมีการสอบสวน เจ้าของ น.ส.3 จำนวน 3 ราย ซึ่งมีที่ดินแปลงละราว 50 ไร่ รวมกันแล้ว 156 ไร่ ว่ามี น.ส.3 ก.และได้มาอย่างไรเพราะสงสัยว่าจะอยู่ในเขตป่าห้วยห้อม ผลปรากฏว่า เจ้าของที่ทั้งสามรายซึ่งเป็นนักธุรกิจชื่อดัง ไม่สามารถมาชี้แนวเขตที่ดินของตัวเองได้ จึงยอมคืนสิทธิ์ในที่ดินให้กับทางราชการ ซึ่งก็จะรวมอยู่ในเขตป่าห้วยห้อม จึงทำให้หากรวมพื้นที่สามแปลงนี้เข้าไปในเขตป่า จะทำให้ป่าห้วยห้อมมีพื้นที่ เกือบ 2,167 ไร่แน่นอน แต่เหมือนจะมีการทับซ้อนกับที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์บางส่วน แต่หาก การตั้งเขตป่าชุมชนห้วยห้อม เกิดปัญหา เพราะประกาศไม่ทันตามกำหนด ตามข่าวว่าอาจจะตกหล่นจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมได้ อาจเข้าทางเอกชนหรือผู้ที่ต้องการบุกรุกป่าผืนนี้ก็เป็นได้ จึงมีที่มาของปัญหาการใช้ที่ดินบริเวณนี้อยู่

 

 

ทางรัฐบาล โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยแถลงว่า เน้นย้ำแผนการออกกฎหมายอนุบัญญัติ เพื่อเร่งขับเคลื่อนดำเนินการใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ในการส่งเสริมสิทธิชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าที่อยู่ใกล้ชุมชน เบื้องต้นตั้งเป้า 5 ปี จัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 ป่าชุมชน จะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน และมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านไร่ ภายใต้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ความสำคัญของข้อกฎหมายตั้งหมวด 1– 8 รวม 104 มาตรา และอำนาจหน้าที่การทำงานทั้งหมด เพื่อวางระบบที่สมบูรณ์ ให้กับประชาชนที่ต้องการจัดตั้งป่าชุมชนให้เกิดขึ้นได้ หากประชาชนได้รับรู้และแสดงความคิดตลอดการดำเนินงานของภาครัฐจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลงได้


รวมทั้งขอบเขตของไม้ทรงคุณค่าที่เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายชนิดไหนตัดได้ หรือตัดไม่ได้ รวมทั้งขอบเขตการเก็บหาของป่า และแต่ละชุมชนต้องมีกติกาเป็นของตนเอง ทั้งนี้ภาพรวมประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งป่าชุมชนในหลายๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เกิดการเรียนรู้จัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น ด้านสังคม เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่าชุมชนได้รับการดูแลรักษา ช่วยลดการคุกคามพื้นที่ป่า และช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง