รีเซต

เปิดเรื่อง(ไม่)ลับ คนชอบ "อาบน้ำอุ่น" ต้องรู้ก่อนเกิดอันตราย

เปิดเรื่อง(ไม่)ลับ คนชอบ "อาบน้ำอุ่น" ต้องรู้ก่อนเกิดอันตราย
TNN ช่อง16
18 กุมภาพันธ์ 2564 ( 01:41 )
103
เปิดเรื่อง(ไม่)ลับ คนชอบ "อาบน้ำอุ่น" ต้องรู้ก่อนเกิดอันตราย

"การอาบน้ำ" ไม่ใช่เพียงแค่การชำระล้างสิ่งสกปรกให้ออกจากร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้ร่างกายและสมองสดชื่นขึ้น และยังทำให้ผิวพรรณดีขึ้นได้ แต่ในช่วงหน้าหนาวแบบนี้ การจะตักน้ำสักขันมาราดบนร่างกายย่อมจะเป็นการยาก บางคนถึงขนาดต้องทำใจอยู่นานกว่าจะอาบน้ำได้ เพราะน้ำเย็นเหลือเกิน ขณะที่บางคนมีเครื่องทำน้ำอุ่น ยังช่วยพอบรรเทาความหนาวได้บ้าง


วันนี้ TNN ONLINE มีเกล็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาฝากเกี่ยวกับการ "อาบน้ำอุ่น" ซึ่งหลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า น้ำอุ่นจะช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย หลับสบาย แต่รู้หรือไม่ว่า การอาบน้ำอุ่นก็มีข้อเสียสำหรับคนบางกลุ่มด้วยเช่นกัน




น้ำอุ่น ต้องมีอุณหภูมิเท่าไร?


ศูนย์ผิวหน้าและศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับอุณหภูมิของน้ำไว้ดังนี้


น้ำอุ่น อุณหภูมิที่เหมาะสมสําหรับการอาบน้ำอุ่นอยู่ที่ 27-37 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ผิวขับของเสียที่คั่งค้างออกมาได้มากขึ้น ทําให้รู้สึกสบายตัว ช่วยลดอาการมือเท้าเย็น บวม เส้นเลือดขอด ช่วยกระตุ้นการไหลของเลือด และช่วยลดความเครียดได้ การแช่น้ำอุ่นเหมาะสําหรับคนที่นอนไม่ค่อยหลับ เพราะน้ำอุ่นจะไปเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายทําให้รู้สึก สบายตัว หลับได้ง่ายและนานขึ้น


น้ำอุ่นอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสจะเป็นความร้อนระดับเดียวกับอุณหภูมิในร่างกาย โดยให้สังเกตว่าเมื่ออาบแล้วจะสบายตัว แม้จะอาบน้ำแช่นานๆ ก็จะไม่รู้สึกแสบผิว แต่จะรู้สึกสบายตัว




ข้อควรระวัง "อาบน้ำอุ่น" ที่ต้องรู้


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยกับทีมข่าว TNN ONLINE ด้วยว่า การอาบน้ำอุ่นไม่ได้มีข้อเสียในสภาวะที่อากาศหนาว แต่มีข้อเสีย ได้แก่


1.มีผลทำให้ผิวแห้ง หลังจากอาบน้ำอุ่น จะต้องใช้เวชภัณฑ์ช่วยเรื่องของการบำรุงผิว เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง


2.ความไวต่อการรับสัมผัส คนบางกลุ่มที่ร่างกายมีความไว ต่อการรับสัมผัสความร้อน ทำให้บางครั้งการอาบน้ำอุ่นในคนบางคนจึงไม่รู้สึกถึงความร้อนของน้ำ ทำให้เกิดน้ำร้อนลวกผิวได้ เช่น คนที่มีโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลายทำให้ความรู้สึกลดลง ดังนั้นเวลาอาบน้ำอุ่นต้องดูว่าน้ำอุ่นพอควร ไม่ร้อนจนกระทั่งไปลวกผิว อาจเกิดผิวหนังพุพองได้


3.การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐาน ประกอบกับเวลาอาบน้ำคนมักจะปิดหน้าต่างเพราะอากาศข้างนอกหนาวเย็น ทำให้ในบางครั้งเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้เกิดแก๊สรั่วในพื้นที่ปิดเสี่ยงเป็นลมหมดสติทำให้เกิดอุบัตเหตุจนเสียชีวิตได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้มีรายงานการเกิดเหตุทุกปี ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น


ดังนั้นจึงมีคำแนะนำไม่ควรอาบน้ำอุ่นในพื้นที่ปิดควรมีช่องระบายอากาศ รวมทั้งต้องพิจารณาดูว่าเครื่องทำน้ำอุ่นได้มาตรฐานหรือไม่ ใช้แก๊สหรือใช้ไฟฟ้าถ้าเกิดรอบคอบในการอาบน้ำอุ่นก็จะไม่มีข้อเสียอะไร แต่ถ้าเกิดละเลยและประมาทในหลายครั้งเกิดกรณีที่อาจจะเจ็บป่วยเพิ่มเติมเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถป้องกันได้


"เคยมีบางคนที่ ไปแช่น้ำอุ่นนานๆ และน้ำค่อนข้างจะร้อนทำให้เส้นเลือดเกิดการขยายตัว และเมื่อเส้นเลือดขยายความดันก็จะตก อาจทำให้เป็นลมหน้ามืดหมดสติกะทันหันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน จะเป็นบางคนหรือในบางกรณี" อธิบดีกรมอนามัย ยกตัวอย่าง




เปิดกลุ่มเสี่ยงต้องระวังในการอาบน้ำอุ่น


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย อาจจะมีปัญหาอาการชาหรือ ไม่รู้สึกกรณีที่ถูกความร้อน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีปัญหากรณีไปสัมผัสสิ่งร้อนๆ ร่างกายจะไม่รู้สึกว่าร้อน ต้องระวังอาจทำให้เกิดน้ำร้อนลวกเกิดแผลพุพองและนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ เช่นการติดเชื้อเพิ่มเติม 


เมื่อคนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว แช่น้ำอุ่นทำให้เส้นเลือดเกิดการขยายตัว มีผลทำให้ความดันโลหิตตกลง โดยหากเป็นคนปกติความดันโลหิตตกไม่มากก็จะไม่เป็นอะไร ขณะที่คนบางกลุ่มความดันโลหิตตก แม้จะไม่มากแต่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้สูงอายุ ขนาดความดันโลหิตตกตอนแช่อ่างและลุกออกจากอ่าง จะทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมหรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ ฟาดขอบปูนต่างๆได้ 




อาบน้ำอุ่นสลับกับน้ำเย็น จะเป็นอย่างไร?


อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนจะทำให้เส้นเลือดในร่างกายขยายตัว ส่วนน้ำเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว บางกลุ่ม การอบซาวน่าร้อนให้เส้นเลือดขยายตัวและมาแช่น้ำเย็น เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว การแพทย์ทางเลือกระบุว่า "มีผลต่อสุขภาพดี" แต่ต้องย้ำว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก


เพราะฉะนั้นหมายความว่า ผู้ที่มีความไวต่อการเจอสิ่งที่ร้อนจัดและมาเย็นจัดเส้นเลือดขยายตัวและเส้นเลือดหดตัวสลับไปมาอาจจะส่งผลต่อสุขภาพให้เกิดอาการป่วยหรือส่งผลกระทบจากการที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับเรื่องของหลอดเลือด เมื่อถูกน้ำเย็นจัดเส้นเลือดจะหดตัวเมื่อเส้นเลือด หดตัวก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ไม่ทัน เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดส่วนปลาย บางคนถูกน้ำเย็นจัดก็ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการนิ้วคล้ำ 


กล่าวโดยสรุป คำแนะนำจากแพทย์ ให้เดินสายกลางขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ประเทศไทยอากาศร้อนชื้น การอาบน้ำตามอุณหภูมิปกติก็จะดีที่สุด เพียงแต่ว่าในบางภาวะที่อากาศหนาวหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวสามารถอาบน้ำอุ่นได้แต่ต้องรู้จักวิธีที่จะอาบน้ำให้ปลอดภัย ถ้าเป็นคนปกติทั่วไปอาบน้ำที่อุณหภูมิปกติจะดีที่สุด


ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง