ทำไมค่าไฟแพง? กฟน.ชี้ค่าไฟพุ่งเหตุหน้าร้อน ไม่ได้ปรับขึ้น
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.(MEA)ในฐานะโฆษกกฟน. เปิดเผยว่า ช่วงนี้ที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าสงสัยว่าค่าไฟสูงขึ้นเพราะการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง โดยกฟน. ยืนยันว่ายังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราตามที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุด มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2566
สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เช่น ในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส
แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียล แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้จากการทดสอบพบว่าอุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสแอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม MEA ประชาชนควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยยึดหลัก "ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน" โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน