รีเซต

KKP ห่วงหนี้สาธารณะ ระเบิดเวลาเร่งความเสี่ยงเศรษฐกิจ

KKP ห่วงหนี้สาธารณะ ระเบิดเวลาเร่งความเสี่ยงเศรษฐกิจ
TNN ช่อง16
30 มิถุนายน 2566 ( 08:45 )
19

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ จากระดับหนี้ที่ปรับสูงขึ้นมากหลังวิกฤตโควิด-19 โดยการขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้างตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดหนี้สาธารณะของไทยเติบโตขึ้นทุกปี ปีละประมาณร้อยละ 7-8 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ สัดส่วนรายจ่ายประจำอยู่ในระดับสูง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นปัญหาหนี้สาธารณะที่สูง และการขาดวินัยทางการคลัง อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลังลดลง 2.ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลที่อาจปรับสูงขึ้น และ 3.การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย 

ส่วนนโยบายที่เพิ่มค่าใช้จ่าย และการขาดดุลการคลัง เช่น นโยบายการให้เงินอุดหนุน มองว่าจะยิ่งสร้างต้นทุนต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ เพราะแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะสร้างภาระผูกพันระยะยาวให้กับรัฐ และทำให้การปรับลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคตทำได้ยากขึ้น

โดย KKP Research ได้คำนวณผลกระทบของการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายสวัสดิการต่างๆ และนโยบายการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น พบว่า ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะแตะระดับเพดานหนี้ร้อยละ 70 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ขณะที่การปฏิรูปรายรับรายจ่าย อาจช่วยลดภาระต่อหนี้ได้บ้าง แต่ไม่มีความยั่งยืน

ส่วนการก่อหนี้เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว คือ การสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ถึงแม้ในระยะสั้น การก่อหนี้ดังกล่าวจะทำให้ระดับหนี้สูงขึ้นได้บ้าง แต่ในระยะยาว การลงทุนเพื่อยกระดับผลิตภาพและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทยอยปรับลดลง

ขณะที่หากมองไปข้างหน้า รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ นอกจากระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และสังคมผู้สูงอายุ ที่ซ้ำเติมการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างแล้ว ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยเลวร้ายลงไปอีก

โดยความท้าทายทั้งหมดนี้ ล้วนตอกย้ำความสำคัญของนโยบายรัฐ ที่จะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว และลดการขาดดุลเชิงโครงสร้าง 

ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง