รีเซต

แชมป์ระดับโลกแข่งบินโดรนผาดโผนกับ AI ให้ทายว่าฝั่งไหนชนะ ?

แชมป์ระดับโลกแข่งบินโดรนผาดโผนกับ AI ให้ทายว่าฝั่งไหนชนะ ?
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2566 ( 22:53 )
101
แชมป์ระดับโลกแข่งบินโดรนผาดโผนกับ AI ให้ทายว่าฝั่งไหนชนะ ?

ปัญญาประดิษฐ์ หรือว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทในเกือบทุกกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีบางตัวที่มีความสามารถมากในการทำงานซับซ้อนให้ออกมาได้ดี ซึ่งรวมถึง “สวิฟต์” (Swift) AI ตัวใหม่ล่าสุดจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่เกิดมาเพื่อเอาชนะนักบินโดรนอาชีพโดยเฉพาะ โดยการวิจัยได้เสร็จสิ้นและแถลงข่าวเมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา


AI VS นักบินโดรนดีกรีแชมป์โลก

สวิฟต์เป็น AI ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich: UZH) เพื่อใช้ควบคุมโดรนแบบสี่ใบพัด (Quadcopter) ผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 (First Person View: FPV) โดยรับภาพจากกล้องของตัวโดรน และรองรับการควบคุมที่ความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อกำหนดเดียวกันกับนักบินโดรนที่จะแข่งขันและมองการเคลื่อนไหวของโดรนผ่านหน้าจอสวมศีรษะ


การแข่งขันจัดขึ้นในพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 25 เมตร พร้อมกำหนดสภาพแวดล้อมเสมือนว่าเป็นการแข่งระหว่างคนด้วยกัน โดยคนที่ AI ท้าแข่งด้วยได้แก่

อเลกซ์ แวโนเวอร์ (Alex Vanover) แชมป์ลีกการแข่งขันโดรน (Drone Racing League) ในปี 2019, โธมัส บิตมัตตา (Thomas Bitmatta) แชมป์รายการแข่งขันมัลติ จีพี โดรน (MultiGP Drone Racing) และ มาร์วิน แชปเปอร์ (Marvin Schaepper) แชมป์โลก 3 สมัย ชาวสวิส 


การแข่งขันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 และ 13 มิถุนายน 2022 โดยกำหนดให้มีช่องลอดผ่าน 7 ช่อง ที่ต้องบินผ่าน ซึ่งต้องใช้ทักษะการบินผาดโผน เช่น ท่าสปลิต เอส (Split-S) ท่าการบินที่มีการเลี้ยวกลับกะทันหัน (มักนิยมใช้ในการบินสลัดการไล่ตามระหว่างการรบ) ระหว่างบินด้วยความเร็วสูงในแต่ละรอบ (lap)


ผลการแข่งขันปรากฏว่า โดรนสามารถทำความเร็วเฉือนเอาชนะนักบินดีกรีแชมป์โลกได้ในแต่ละรอบ โดยนำอยู่ 0.50 วินาที อย่างไรก็ตาม เมื่อเพิ่มความสว่างในสนามแข่ง ซึ่งเป็นเปลี่ยนสภาพการแข่งขัน มนุษย์ยังคงสามารถแก้ไขสถานการณ์และเอาชนะโดรนที่ AI ขับได้อยู่ดี


เบื้องหลังและเป้าหมายการพัฒนา AI บินโดรนแข่งแชมป์โลก

โดรนที่ AI ควบคุมนั้นจะพึ่งพาการรับข้อมูลจากเซนเซอร์ต่าง ๆ ของตัวโดรน เช่น ภาพจากกล้อง และตำแหน่ง รวมไปถึงข้อมูลตำแหน่งจากเซนเซอร์ทั่วสนามแข่งขันเพื่อระบุตำแหน่งของตัวโดรนในสนาม และรับรู้ตำแหน่งของช่องลอดผ่าน เพื่อให้ AI กำหนดทิศทางและความเร็วโดรนแบบเรียลไทม์ (Realtime) ได้อย่างแม่นยำ

ภาพการกำหนดสภาพแวดล้อมจำลองในคอมพิวเตอร์, ที่มารูปภาพ Nature

โดยการบินของ AI จะเริ่มจากการฝึกฝนแบบเสมือนบนระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการกำหนดค่าสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มาแบบเฉพาะเจาะจง ก่อนนำไปปรับเทียบกับสภาพสนามแข่งขันจริงที่ควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับในคอมพิวเตอร์ ดังนั้น การเปลี่ยนค่าความสว่างของสนามแข่งจึงทำให้ AI ไม่สามารถควบคุมการบินได้อย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้แพ้มนุษย์ในการแข่งที่เปลี่ยนสภาพสนามแข่งไปโดยปริยาย


ทั้งนี้ เป้าหมายของนักวิจัยต้องการให้สวิฟต์ หรือ AI ที่ใช้แข่งขันบินโดรนกับแชมป์โลกในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่การใช้งานบรรเทาสาธารณภัย ที่เป็นสถานการณ์จริงซึ่งมีความซับซ้อนได้จริงในอนาคต โดยตัวงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในเนเชอร์ (Nature) วารสารวิชาการชื่อดังเมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ University of Zurich


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง