รีเซต

‘G 20’ VS ‘COVID-19’ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

‘G 20’ VS ‘COVID-19’ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช
มติชน
3 เมษายน 2563 ( 12:00 )
239
‘G 20’ VS ‘COVID-19’ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การที่ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ได้เปิดประชุมสุดยอดโดยทางวิดีโอ เพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นและระบาดทั่วโลก และที่ประชุมได้มีมติให้ใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่จำเป็น เพื่อต่อสู้และระงับการระบาดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนั้น

อนุโมทนา

เชื้อโรคไร้พรมแดนคือสัจธรรม ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวและช่วยตนเองได้

ดูตัวอย่างสหรัฐ ขนาดมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุด เพียบพร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญที่สุด เมื่อถึงคราววิกฤต ก็ยังต้องร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

แม้โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่า สหรัฐไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศชั่วนิรันดร

แต่ในที่สุดเขาก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง

กรณีสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีประเทศใดในโลกสามารถต่อสู้กับโรคระบาดรอบศตวรรษนี้ได้

โรคโควิคคือวิกฤตโลกอย่างแท้จริง

ส่วนการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ผลจะเป็นประการใดเป็นเรื่องน่าติดตาม

แถลงการณ์ร่วมของ G20 ได้ให้คำมั่นว่า “จะเดินไปในทิศทางเดียวกันในประการอันเกี่ยวกับปฏิบัติการสาธารณสุขและมาตรการการคลัง ร่วมมือกันควบคุมการระบาดของโรค ธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน สนับสนุนช่วยเหลือประเทศที่มีความต้องการ ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่อกัน”

หากเหลียวมองอดีต ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษ 21 มี 2 เหตุการณ์ระดับโลก

1 คือเหตุการณ์ 911 และผู้ก่อการร้ายระดับโลก

2 คือเหตุการณ์เศรษฐกิจสึนามิ

โรคโควิด-19 คือเหตุการณ์ที่ 3 ของศตวรรษนี้

เหตุการณ์ 1 และ 2 ประชาคมโลกส่วนใหญ่มีความสามัคคีตามควรแก่เหตุ

ต่อมาปี 2009 กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เสนอให้มี G20

เป็นเวทีในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก

อันเวที G20 ได้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่เกิดใหม่

ถือเป็นแม่แบบในการร่วมมือระหว่างประเทศของศตวรรษ 21

ในอดีตตะวันตกเป็นผู้นำเกี่ยวกับวินัยระหว่างประเทศเป็นเวลากว่า 100 ปี

เมื่อเกิดวิกฤตคราใด ประเทศเบอร์ใหญ่ตะวันตกจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา

แต่เหตุการณ์วิกฤตโควิดครั้งนี้ ยังไม่ปรากฏความร่วมมือร่วมใจของสังคมโลกแต่อย่างใด

สิ่งที่ให้เห็นเป็นประจักษ์คือตัวใครตัวมัน อาทิ

เมื่อเริ่มต้นเกิดโรคระบาดที่ประเทศจีน ตะวันตกเป็นเพียงผู้ชม

กระทั่งต้นเดือนมีนาคม เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังยุโรปและสหรัฐ กลุ่มอุตสาหกรรม 7 ประเทศ (G7) จึงได้มีความเห็นพ้องให้ประคองเศรษฐกิจ

หากในความเป็นจริงประคองเพียงเพื่อตลาดหุ้นของประเทศตนเท่านั้น

ยังมองไม่เห็นประเทศอุตสาหกรรมได้มีมาตรการต่อต้านไวรัสแต่ประการใด

การประชุมสุดยอดของผู้นำ G20 ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาโรคระบาด และเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างประเทศในเชิงสัญลักษณ์

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศจีนจะเพิ่มปริมาณการส่งออกขนาดใหญ่ อันได้แก่ส่วนผสมของตัวยาหลัก ของใช้จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ตลอดจนอุปกรณ์ของใช้ในการป้องกันโรคระบาด ฯลฯ

และในเวลาเดียวกันก็ได้ขอร้องให้แต่ละประเทศลดภาษีการนำเข้า ยกเลิกสิ่งกีดขวาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกอีกโสตหนึ่ง

ปี 2020 การประชุม G20 ประธานหมุนเวียนคือประเทศซาอุดีอาระเบีย

แต่การเตรียมการก่อนการประชุม ชัดเจนยิ่งว่าจีนเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลัง กล่าวคือ

สี จิ้นผิง ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยปรึกษาหารือเกี่ยวกับการต่อต้านโรคระบาด

วาระการประชุมสุดยอด G20 คือหัวข้อสำคัญในการสนทนาทางโทรศัพท์

นอกจากนี้ หวางอี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีนยังได้เรียกร้องให้ G20 ผลักดันให้ประเทศทั่วโลกสมัครสมานร่วมกันต่อต้านโรคไวรัส

อีกทั้งได้สนทนาทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอินเดีย และอินโดนีเซียให้ร่วมกันกำจัดวิกฤตไวรัสโคโรนา การสนทนาเป็นไปในทางสร้างสรรค์

ต้องยอมรับว่า งานนี้ไม่ว่าสี จิ้นผิง ไม่ว่าหวางอี้ ต่างได้ทำการบ้านอย่างหนัก

ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสนใจต่อ G20 ค่อนข้างน้อย

แม้ว่าระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐกับจีนมีปัญหาในทางการค้า

แต่ท่ามกลางภาวะโรค COVID-19 คือนาทีวิกฤต เกี่ยวกับความเป็นความตายของประชาชน

ควรต้องหันหน้าเข้าหากันร่วมกันแก้ปัญหา จึงจะเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม

แต่ความขัดแย้งยังไม่ยุติ กลับมีเรื่องใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ

ปี 2015 องค์การอนามัยโลกได้มีข้อกำหนด ห้ามมิให้นำเอาชื่อสถานที่หรือชื่อประเทศมาตั้งเป็นชื่อโรค เพื่อหลีกเลี่ยงสร้างความมัวหมองแก่สถานที่หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง

ฉะนั้น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้ประกาศให้ใช้ชื่อไวรัสโคโรนาว่า “COVID-19”

ซึ่งย่อมาจาก Coronavirus Disease 2019

แต่โดนัลด์ ทรัมป์ และสมุนของเขาก็ยังยืนกรานเรียกว่า

“ไวรัสอู่ฮั่น” (Wuhan virus) หรือ “ไวรัสจีน” (Chinese virus)

ก็เพราะคำว่า “Chinese virus” จึงนำมาซึ่งการโต้แย้งอีก 1 ประเด็น

เพราะจีนเห็นว่าเป็นการประณามหยามเหยียดแบบเหมาเข่ง

พฤติกรรมของทรัมป์ถือว่าเป็นการกวนน้ำให้ขุ่นในยามวิกฤต

ในขณะที่สหรัฐก็ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ของใช้จำนวนมากสำหรับต่อต้านโรค

ดังนั้น การที่ทรัมป์ยืนยันว่า สหรัฐไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้น

จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้

เอกสารทำเนียบขาวปรากฏชัดเจนว่า

1 ขอให้เกาหลีใต้ช่วยส่งอุปกรณ์ของใช้เกี่ยวกับการต่อต้านโควิด

1 สั่งให้สถานทูตในต่างประเทศให้จัดหาอุปกรณ์ของใช้เกี่ยวกับการต่อต้านโรคระบาด

1 สั่งให้สถานทูตกดดันรัฐบาลต่างประเทศเพิ่มผลผลิตและเพิ่มปริมาณส่งออกเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนของใช้ในการป้องกันโควิด

น้ำลดตอจึงผุด

อีกประเด็น 1 ที่สหรัฐใช้ชื่อเมืองเป็นชื่อโรค ใช้ชื่อประเทศเป็นชื่อโรค แต่ถูกกล่าวหาว่า พฤติกรรมเป็นการ “ดิสเครดิต” ประเทศจีน กล่าวคือ

ในการประชุม G7 ปอมเปโอรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้เดินสายให้สมาชิกออกแถลงการณ์โดยใช้คำว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” แต่อีก 6 ประเทศไม่เห็นด้วย

ในที่สุดจึงยกเลิกแถลงการณ์ดังกล่าว

ดังนั้น สหรัฐจึงกลายเป็นประเทศที่ต้องโดดเดี่ยวตนเอง

และในที่สุด โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยืนยันจะไม่ใช้คำว่า “Chinese virus” อีกต่อไป

ส่วน สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังของการประชุมสุดยอด G20 ครั้งนี้

เป็นพฤติการณ์แสดงความรับผิดต่อสังคม

การจัดประชุมสุดยอด G20 ทางวิดีโอครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นวัตถุประสงค์เกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อสู้กับ COVID-19 อย่างเน็ทเน็ท

ขอให้ “G20” ชนะ “COVID-19” !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง