รีเซต

เปิดโลก Gold ETFs “เดอะบิ๊กบอย” แห่งตลาดทองคำ

เปิดโลก Gold ETFs  “เดอะบิ๊กบอย”  แห่งตลาดทองคำ
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2563 ( 09:45 )
161

ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (4 ส.ค.) ราคาทองคำส่งมอบล่วงหน้ามีราคาพุ่งทะยานขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 2,027.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติราคาทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของโลก ก่อนที่จะปิดที่ระดับ 2,021 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์   สอดคล้องกับราคาทองคำส่งมอบทันที  ก็ทะยายานขึ้นแตะสูงสุดระหว่างวันที่ 2,009.13 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ก่อนที่จะลงมาปิดที่ระดับ 2,004.35 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติราคาทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของโลกเช่นกัน 

ขณะที่ในช่วงนี้ราคาทองคำเริ่มผันผวน เนื่องจากตลาดทองคำยังคงต่อสู้กันด้วยปัจจัยลบ และปัจจัยบวก แต่มีเป้าหมายคาดการณ์ว่าต่อไปราคาทองคำจะยังอยู่ระดับสูงแตะที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์  

โดยปัจจัยที่จะดึงราคาทองลงมาขึ้นอยู่กับความสำเร็จของวัคซีนป้องกันโควิด-19 การพื้นตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการทองคำจริง (Physical gold) รวมถึงไหลออกของเงินทุนจากหน่วยลงทุนประเภทต่างๆ ของกองทุน ETFs (เรียกรวมกันว่า ETPs : Exchange-traded products ) 

ความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ของราคาทองคำ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการทำกำไรระยะสั้น จนทำให้ราคาทองคำทรุดตัวลงอย่างฮวบฮาบ 6% ภายในวันเดียวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม (12 สิงหาคม ตามเวลาในประเทศไทย)  


แรงเทขายทองคำมาพร้อมกับการไหลออกของเงินทุนจากกอง Gold ETFs หลายกองทุน โดยเฉพาะ SPDR Gold Shares exchange-traded fund (GLD) ของกลุ่ม State Street Corp. ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวม พบมีการไหลออกของเงินทุนในช่วงวันที่ 14 สิงหาคม รวมทั้งสิ้น 382 ล้านดอลาร์ ถือเป็นการถอนการลงทุนที่มากที่สุดนับจากเดือนมีนาคม ปีนี้

กองทุน GLD เป็นกองทุน ETFs ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 82,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในปีนี้ GLD สามารถดึงเงินลงทุนได้ทั้งสิ้น 21,000 ล้านดอลลาร์  มากเป็นอันดับสองในตลาดกองทุน ETFs มูลค่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจาก Vanguard S&P 500 ETF  


 
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ ราคาทองคำก็สามารถต้านแรงเทขายทำกำไรระยะสั้นขึ้นมา ปิดบวก 2.5%  และแรงซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ราคาทองคำกำหนดส่งมอบล่วงหน้าเดือนธันวาคม ทะลุผ่านระดับ 2,000 ดอลลาร์ ขึ้นไปปิดการซื้อขายที่ 2,018.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ส.ค.) จากปัจจัยบวกในเรื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลง,การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และข่าวการลงทุนในบริษัทบาร์ริค โกลด์ (Barrick Gold) ของวาร์เรน บัฟเฟต 

ชื่อเสียงของ “Gold ETFs”  เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ คู่ขนานมากับราคาทองคำที่พุ่งสูงกว่า 36 % นับจากต้นปีถึงขณะนี้  



สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ดุลยภาพในตลาดทองคำโลกได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กองทุน Gold ETFs ถูกมองเป็นการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ ความต้องการทองคำที่ถือเป็น “หลุมหลบภัย” ในช่วงวิกฤตได้กระตุ้นให้มีเงินลงทุนไหลเข้ากองทุน ETFs อย่างต่อเนื่อง  โดยการถือครองทองคำทั่วโลกของกองทุน Gold ETFs ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึง 3 สิงหาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 3,365.6 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 30%  ทำให้กองทุน Gold ETFs มีทองคำในการถือครองมากที่สุดเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่จำนวนทองคำในทุนสำรองของสหรัฐ ทั้งนี้ ทองคำในทุนสำรองของสหรัฐมีปริมาณทั้งสิ้น 8,000 ตัน

ด้านสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่า ในครึ่งแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้าในกองทุน Gold ETFs  ราว 40,000 ล้านดอลลาร์  โดยปริมาณเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดเกิดขึ้นในสหรัฐ ซึ่งเป็นแหล่งที่นักลงทุนเทเงินลงทุนในกองทุน Gold ETF เกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์ 

จะเห็นว่า แม้ทองคำจะพุ่ง แต่นักลงทุนกลับไม่ได้ลงทุนในบริษัทเหมือง แต่กลับแห่ลงทุนในกองทุน Gold ETFs โดยกระแสความนิยมและเม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กองทุน Gold ETFs ได้รับฉายา " The Big Boy" ในตลาดทองคำโลกไปแล้ว



จากข้อมูลกองทุน Gold ETFs ขนาดใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ กองทุน SPDR Gold Share และ iShare Trust  เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดรวมแล้วราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็น 61% เงินลงทุนไหลเข้าทั่วโลก มูลค่าทองคำภายใต้การบริหารรวมกันราว 113,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 


 
ขณะที่สภาทองคำโลก รายงานข้อมูลตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 7 สิงหาคม 2563 พบว่า มีเงินลงทุนไหลเข้ากองทุน Gold ETFs ที่อยู่ในอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา+แคนาดา) มากที่สุดรวมทั้งหมด  127,800 ล้านดอลลาร์  ถือครองทองคำทั้งสิ้น 2,043.2 ตัน / ในยุโรป มีเงินทุนไหลเข้ากองทุน Gold ETFs  รวมทั้งสิ้น 98,700 ล้านดอลลาร์ ถือครองทองคำทั้งสิ้น 1,579.4 ตัน  // ในเอเชีย 6,600 ล้านดอลลาร์ ถือครองทองคำ 105.7 ตัน  // ภูมิภาคอื่นๆ พบว่า กองทุน Gold ETFs มีเงินทุนไหลเข้า 4,000 ล้านดอลลาร์ และถือครองทองคำคิดเป็น 63.6 ตัน  



สภาทองคำโลกยังรายงานว่า การลงทุนของกองทุน Gold ETFs เร่งระดับขึ้นอย่างมากในไตรมาส 2 ของปี 2563 ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีนี้  การลงทุนในทองคำทำสถิติมากที่สุด 734 ตัน สูงกว่าการลงทุนในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่มีการลงทุนในทองคำ 646 ตัน  ส่งผลให้การถือครองทองคำทั่วโลกของกองทุน ETFs เพิ่มเป็น 3,621 ตัน



บทวิเคราะห์ของ George Milling-Stanley เป็นหัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนทอง ของ State Street Global Advisors ระบุว่าตราบใด 3 ปัจจัยต่อไปนี้ยังคงอยู่ การลงทุนในกองทุน Gold ETFsจะยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 
1.ดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง  โดยบทวิเคราะห์ของ Milling-Stanley ชี้ว่า ระดับหนี้ในสหรัฐได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากกระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐพยายามหาทางที่จะลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดังนั้น จึงทำให้ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
2. เงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้น เพราะหากเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น จากผลโดยตรงของนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงรุกของธนาคารกลางทั่วโลกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  “ทองคำ” ก็ยังคงได้ประโยชน์ เพราะเป็นวิธีที่นักลงทุนปกป้องอำนาจซื้อของพวกเขา  

โดยหากพิจารณาจากผลตอบแทนรายปีโดยเฉลี่ยในช่วงเวลาที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่แตกต่างกันไป พบว่า ทองคำให้ผลตอบแทนรายปีเฉลี่ยที่อัตรา 8.4% ในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 2% และให้ผลตอบแทน 6.2% ในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกิน 5%

3.ปัจจัยสุดท้ายคือ การลดลงของปริมาณทองคำจริง (Physical gold) เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองทองมีปัญหาจากการเร่งขยายการลงทุน เช่น ซื้อเหมืองคู่แข่ง ลงทุนสำรวจและผลิตทอง แต่ราคาทองขึ้นและลงต่อเนื่องหลายปี ทำให้หลายบริษัทเหมืองขาดทุน ครั้งนี้ เลยอาศัยประโยชน์จากทองแพงขึ้น เอาเงินไปใช้หนี้ และจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น ประกอบกับหลายบริษัทไม่ต้องการเดินซ้ำรอยการลงทุนในอดีตที่ขยายการลงทุนโดยใช้เงินมากเกินไป จนพวกเขาได้รับผลกระทบมารอบหนึ่งแล้วในช่วงที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นครั้งก่อน ด้วยปริมาณการผลิตที่จำกัดเช่นนี้ จะเกื้อหนุนให้นักลงทุนยังลงทุนในกองทุน Gold ETFs ต่อ



ผลการศึกษาของนักวิชาการของ Duke University and ที่ปรึกษาอาวุโส ของ Research Affiliates พบว่า นับจากมีการจัดตั้งกองทุน Gold ETP ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าของทองคำและการถือครองทองคำของกองทุน Gold ETFs มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 1980 และปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดทั้งสองช่วงเวลา จากผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 6.3% และ 1.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ มีผลการศึกษาในต่างประเทศ (การศึกษาเรื่อง Gold, the Golden Constant, COVID-19, “Massive Passives” and Déjà Vu) พบว่า ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์หน่วยลงทุนของกองทุน Gold ETFs ได้ดันราคาที่แท้จริงของทองคำให้สูงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ขาย ที่มีผลทำให้ราคาทองคำลดลง  ซึ่งข้อสรุปนี้หมายความว่า กองทุน Gold ETFs มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างราคาที่แท้จริงของทองคำกับการถือครองทองคำในกองทุน Gold ETFs 

ดังนั้น ในทุกครั้งที่มีการเพิ่มการถือครองทองคำใน Gold ETFs ราคาที่แท้จริงของทองคำก็จะปรับตัวขึ้นตาม 

ติดตาม รายการเศรษฐกิจ Insight ตอน เปิดโลก Gold ETFs  “เดอะบิ๊กบอย”  แห่งตลาดทองคำ

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง