รีเซต

เช็คสิทธิ ม.40 ม.39 ม.33 เสียชีวิต ได้เงินเยียวยาเท่าไหร่ มีขั้นตอนอย่างไร?

เช็คสิทธิ ม.40 ม.39 ม.33 เสียชีวิต ได้เงินเยียวยาเท่าไหร่ มีขั้นตอนอย่างไร?
Ingonn
9 พฤศจิกายน 2564 ( 09:54 )
28.7K

สำนักงานประกันสังคม เปิดสิทธิควรรู้! กรณีตายประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่? เมื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีสิทธิตามเงื่อนไข ถึงแก่ความตาย สามารถรับสิทธิประโยชน์ในกรณีตายได้ โดยกองทุนเงินทดแทน ได้ปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้ปรับหลักเกณฑ์เพิ่มค่าทำศพ เป็น 50,000 บาท จากเมื่อก่อน 40,000 บาท ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่ 12 ก.ค. 64 เป็นต้นไป

 

กองทุนประกันสังคม คุ้มครองอะไรบ้าง?

  • มาตรา 33 คือ ลูกจ้างผู้ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน

 

  • มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยเป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนแล้วลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม โดยได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ

 

  • มาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพ หรือแรงงานอิสระ ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยได้รับความคุ้มครองมากที่สุด 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ

 

เสียชีวิตประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่?

ค่าทําศพ

  • มาตรา 33 และ มาตรา 39 (จ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต) ได้รับค่าทําศพ 50,000 บาท จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ

  • มาตรา 40 (จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 ใน 12 เดือน เว้นแต่กรณีเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต)

    - ทางเลือกที่ 1 และ 2 ได้รับค่าทําศพ 25,000 บาท
    - ทางเลือกที่ 3 ได้รับค่าทําศพ 50,000 บาท

 

เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต

มาตรา 33 และ มาตรา 39

  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36-119 เดือน จะได้เงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้าง เฉลี่ย 4 เดือน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

 

มาตรา 40

  • ทางเลือกที่ 1 และ 2 จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย จะได้รับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท

 

 ใครคือผู้จัดการศพ

(ก) บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

(ข) สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน 

(ค) บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน 

 

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย 

กรณีขอรับค่าทำศพ

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)     
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง     
  • หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ     
  • สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง     
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้จัดการศพ

 

กรณีขอรับเงินสงเคราะห์

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)     
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของ ผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์     
  • สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)     
  • สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรกรณีไม่มีสูติบัตร     
  • หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี)

 

การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน

  • หนังสือมอบอำนาจ     
  • บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริงของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ     
  • หนังสือแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงานประกันสังคม     
  • การยื่นคำร้องขอรับค่าทำศพ สามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ /สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในการยื่นคำร้อง

 

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน

  1. ผู้จัดการศพผู้มีสิทธิต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์ โดยมีหลักฐานครบถ้วน

  2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ

  3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

 

การสั่งจ่ายเงิน   

  • เงินสด/เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน)
  • ส่งธนาณัติให้ผู้มีสิทธิ
  • โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ข้างต้น

 

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง