รีเซต

ตัวช่วยใหม่ หนุนทุเรียนไทยรั้งเบอร์ 1 ส่งออก | TNN Tech

ตัวช่วยใหม่ หนุนทุเรียนไทยรั้งเบอร์ 1 ส่งออก  | TNN Tech
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2566 ( 17:54 )
39
ตัวช่วยใหม่ หนุนทุเรียนไทยรั้งเบอร์ 1 ส่งออก  | TNN Tech



หนึ่งในความท้าทายของเกษตรกรไทย คือ การควบคุมปริมาณของสินค้าเกษตรไม่ให้ล้นหรือขาดตลาด ไปจนถึงคุณภาพที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการส่งออก เนื่องจากมีการจดบันทึกข้อมูลการผลิตจำนวนมากที่ไม่เป็นระเบียบ ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลตกหล่น ส่งผลทำให้สินค้าเกษตรถูกชะลอหรือตีกลับจากประเทศปลายทาง


แม้ว่าจะมีการออกมาตรการต่าง ๆ มาสนับสนุน แต่ก็อาจจะเข้าไม่ถึงเกษตรกรทุกกลุ่ม นั่นเป็นเพราะการจดบันทึกจำนวนมากไม่ง่ายสำหรับเกษตรกรสูงวัย และทำให้เพิ่มเวลาในการเพาะปลูก จึงเป็นที่มาของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบของแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า KASETTRACK มาช่วยอุดรอยรั่วตั้งแต่ต้นน้ำ ให้เกษตรกรใช้งานได้ง่าย ไปจนถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคที่อยู่ปลายน้ำอีกด้วย  


KASETTRACK คือแอปอะไร ? 


แอปพลิเคชัน KASETTRACK คือ การจดบันทึกข้อมูลการทำเกษตรกรรม โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัปและสร้างความร่วมมือสู่การใช้งานจริงของเกษตรกร โดยเริ่มต้นที่ “ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ไทย” 

 

มีฟังก์ชันการใช้งาน 5 ฟังก์ชัน คือ  


  1. 1. ระบบฐานข้อมูลเกษตรกร (Farm information) โดยเกษตรกรสามารถบันทึกชนิดพืชที่ปลูก ข้อมูลผลผลิต ข้อมูลแปลงเพาะปลูก แสดงพิกัดแผนที่แปลงเพาะปลูกรายบุคคล รายแปลง ระบบวาดแผนที่บนพิกัดแปลงแบบหลายจุด

  2. 2. ระบบวางแผนต้นทุนการผลิต (Farm Management) ให้กับเกษตรกรทั้งรายเดี่ยวและรายกลุ่ม สามารถจัดระดับความสามารถของเกษตรกร จัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ในแต่ละรอบการปลูกพืช (Crop management) สถิติรายได้ คาดการณ์ปริมาณผลผลิต และรายงานการใช้ปัจจัยการผลิตอื่น ๆ

  3. 3. GAP Management โดยระบบสามารถบันทึก Good Agricultural Practice (GAP) หรือข้อกำหนดของการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าแปลงทุเรียนเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และสามารถกลั่นกรองข้อมูลในระบบเพื่อยื่นขอหรืออายุ GAP กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

  4. 4. Farm Market Place โดย KASETTRACK ทำให้เกษตรกรคาดการณ์ผลผลิตได้ล่วงหน้า จึงสามารถหาตลาดหรือแหล่งรับซื้อได้แน่นอน เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับตลาด สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้

  5. 5. Farm Community โดยแอปฯ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามข่าวสารหรือหาความรู้ของเกษตรกร รวมถึงสามารถบริหารกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจชุมชนได้


ซึ่งเกษตรกรจะกรอกข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเองเข้าไปในแอปฯ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการปลูกทุเรียนในทุกขั้นตอน หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ของสวนทุเรียน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ และทางแอปฯ จะรวบรวมข้อมูลและช่วยวิเคราะห์ผล และนำผลลัพธ์ที่ได้มาต่อยอดการผลิต


การทำงานของ KASETTRACK 


ข้อมูลทั้งหมดที่เกษตรกรบันทึก จะถูกเก็บรักษาไว้บน Cloud Server หรือระบบการจัดเก็บข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง ทำให้ผู้ใช้มั่นใจว่าข้อมูลต่าง ๆ จะมีความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเกษตรกรก็สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลให้กับใครบ้าง ซึ่งในอนาคตจะมีการนำเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ผลลัพธ์ที่ต้องส่งต่อให้กับเกษตรกรนั้นมีความแม่นยำมากขึ้น  


ในแต่ละรอบการผลิต แอปได้สร้างขั้นตอนอัตโนมัติสำหรับใส่ข้อมูลอย่างละเอียดในทุกช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียน ตลอดจนถึงรอบเก็บเกี่ยว จึงทำให้แอปฯ สามารถคำนวณปริมาณผลผลิตคงเหลือที่จะได้เก็บเกี่ยวได้อัตโนมัติ ซึ่งภายในปี 2569 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า KASETTRACK  จะช่วยดูแลการผลิตทุเรียนคุณภาพทั่วประเทศได้กว่า 100,000 ตัน และสร้างเกษตรกรคุณภาพที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP กว่า 10,000 ราย


และไม่เพียงทุเรียนเท่านั้น แต่รองรับการบันทึกกิจกรรมการผลิตของพืชกว่า 150 ชนิด อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์ม กาแฟ สมุนไพรต่าง ๆ


ข้อดีของ KASETTRACK


ข้อดีของแอปพลิเคชัน KASETTRACK คือ เกษตรกรสามารถจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ได้แบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างให้สิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหลายแผ่น หรือปากกา  โดยสามารถบันทึกข้อมูลได้หลากหลายภายในแอปฯ เดียว เช่น ข้อมูลชนิดพืชที่ปลูก ผลผลิต รายละเอียดแปลงเพาะปลูก นอกจากนี้ ยังสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังในปีที่ผ่าน ๆ มาได้ว่าแต่ละห้วงเวลาได้ใช้วัสดุทางการเกษตรอะไรไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ไปจนถึงข้อมูลต่าง ๆ ในการดูแลทุเรียนในทุกระยะการเติบโต เพื่อให้เกษตรกรนำมาวางแผนลดต้นทุนการผลิตต่อไป


ที่สำคัญข้อมูลที่บันทึกลงไปในแอปฯ ตามมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) หรือข้อกำหนดของการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ยังสามารถนำมาทำเป็น QR code ในแต่ละรอบปีการผลิต แล้วแปลงออกมาเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ส่งให้หน่วยผู้รับผิดชอบตรวจสอบได้ จึงทำให้เกษตรกรสามารถขอขึ้นทะเบียนหรือต่ออายุใบรับรอง GAP ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปยังต่างประเทศได้สะดวกและรวดเร็ว 


นอกจากนี้ KASETTRACK ยังช่วยให้เกษตรกรรู้ปริมาณพื้นที่จนนำไปสู่การวางผังปลูก เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพสูง รสชาติอร่อยได้มาตรฐาน และได้กำไรมากที่สุด 


นอกจากการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแล้ว ยังส่งเสริมการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน ทั้งการเพิ่มรายได้ การพัฒนามาตรฐาน การหาแหล่งเงินทุน การเชื่อมโยงตลาด รวมถึงแจ้งราคาตลาดที่รับซื้อทุเรียนแต่ละเกรดคุณภาพ ณ วันที่มีการซื้อขาย รวมถึงช่วยให้ภาครัฐได้รับข้อมูลปริมาณผลผลิต กระบวนการผลิต ปริมาณการซื้อขายที่ถูกต้องชัดเจน เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ และสามารถนำข้อมูลมาใช้พิจารณาการวิจัยและพัฒนาได้ด้วย


อีกหนึ่งจุดเด่นของ KasetTrack คือผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยี เพราะใช้งานง่าย มีการประยุกต์ใช้คำสั่งเสียงและการถ่ายภาพ แทนการพิมพ์ ทำให้การบันทึกข้อมูลไม่ยุ่งยาก เหมาะสำหรับเกษตรกรสูงวัย


ผลตอบรับ KASETTRACK 


KASETTRACK เป็นโครงการนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนจากดีป้าที่ให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายใช้งานได้ฟรี เมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (depa mini transformation voucher) ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้งานแล้วกว่า 1,000 ราย โดยเกษตรกรที่ต้องการใช้งาน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน KASETTRACK ได้ผ่านทั้งระบบ android และ ios  หลังจากนั้นจึงลงทะเบียนยืนยันตัวตนแล้วเข้าใช้งานได้ทันที  และสำหรับปี 2566 ดีป้าได้เปิดรับสมัครเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการเพิ่มแล้ว 


ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปี 2565 ไทยครองแชมป์โลกในการส่งออกทุเรียน มูลค่ากว่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 110,000 ล้านบาท หลังจากนี้ ด้วยความสามารถของแอปพลิเคชัน KasertTrack ทั้งการวางผังแปลงทุเรียน การคาดการณ์ปริมาณผลผลิต การตรวจสอบย้อนกลับ การเก็บข้อมูลอย่างละเอียด


ประกอบกับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูก จึงเชื่อได้ว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งในฟันเฟื่องสำคัญ ที่สนับสนุนให้ทุเรียนไทยรั้งเบอร์ 1 ของโลกในเรื่องของการส่งออกต่อไป 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง