รีเซต

หมอประสิทธิ์ ไขข้อข้องใจ ทำไมโควิด-19 โจมตีทุกปลายปี ชี้ ข้อมูลโอไมครอน ไม่มีหลักฐานความรุนแรง

หมอประสิทธิ์ ไขข้อข้องใจ ทำไมโควิด-19 โจมตีทุกปลายปี ชี้ ข้อมูลโอไมครอน ไม่มีหลักฐานความรุนแรง
มติชน
11 ธันวาคม 2564 ( 11:17 )
52
หมอประสิทธิ์ ไขข้อข้องใจ ทำไมโควิด-19 โจมตีทุกปลายปี ชี้ ข้อมูลโอไมครอน ไม่มีหลักฐานความรุนแรง

หมอประสิทธิ์ ไขข้อข้องใจ ทำไมโควิด-19 โจมตีเราทุกปลายปี ชี้ ข้อมูลโอไมครอน ไม่มีหลักฐานความรุนแรง พบคนป่วยหนักเพียง 1  ราย วัคซีนยังเอาอยู่ ลดตายได้ดี

 

จากการระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมถึงไทยเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์และพบว่า ในช่วงเดือนธ.ค.ของทุกปี มักจะเกิดเหตุการณ์สำคัญที่น่ากังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนกลับมากระชับขึ้นอีกครั้ง อย่างปีที่ผ่านมาช่วงส่งท้ายปี 2562 ไทยพบการระบาดในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เมื่อมาถึงเดือนนี้ ก็พบการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่ทำให้ทั่วโลกต้องทบทวนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการอีกครั้ง

 

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า สำหรับตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร อาจไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง แต่ก็เกิดจากการแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงาน โดยไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือ ปลายปีเป็นช่วงที่คนดำเนินธุรกิจ เป็นเดือน ธ.ค. ที่มีงานเลี้ยง มีการท่องเที่ยว มีตลาด มีอาหาร นับเป็นช่วงที่คนอยากสนุกสนานกัน ดังนั้น เมื่อมีงานเกิดขึ้น ก็ทำให้มีการจ้างงาน ปีที่แล้วที่ระบาดในตลาดกลางกุ้ง เกิดจากปัจจัยทางอ้อม ซึ่งตนไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี มีการเคลื่อนของแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศมากน้อยอย่างไร แต่หากหลักการเหตุผลโดยตรง ก็เพราะมีงานก็เลยมีคนเข้ามาทำงาน บางส่วนผิดกฎหมายก็หลุดจากการคัดกรอง ฉะนั้น ปีที่แล้วกับปีนี้ ต่างกันในเรื่องของวัคซีนป้องกัน รวมถึงปีที่แล้วเรายังเจอเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า เมื่อมาปีนี้เราเจอเป็นเดลต้าที่มีความรุนแรง แพร่ได้เร็วกว่า

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจัยของการท่องเที่ยวในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. คนมีแนวโน้มอยากออกไปพบกัน สังสรรค์ สนุกสนานกับคน ซึ่งต้องย้ำว่า 4 เสี่ยงเมื่อมารวมกันก็จะเป็นความเสี่ยง คือ 1.คนเสี่ยง 2.สถานที่เสี่ยง 3.กิจกรรมเสี่ยง และ 4.ช่วงเวลาเสี่ยง โอกาสที่จะจัดการต่างๆ มักเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกเตือนกันหมด เพราะมีประสบการณ์จากปีที่แล้ว ว่า ช่วงหน้าหนาว ช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ มีโอกาสที่คนสังสรรค์ จะเห็นว่า หลายประเทศในยุโรป หรือญี่ปุ่น เลื่อนการเฉลิมฉลองไปหลังปีใหม่ หรือคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็จะไม่ให้เข้าร่วมงาน เป็นอีกทางออกหนึ่งให้คนเข้ารับวัคซีนและมีผลลดความรุนแรงของโรค

 

“ปีนี้มีจุดกระทบในเรื่องสายพันธุ์โอไมครอน โชคดีที่มันปรากฎตัวตั้งแต่ พ.ย. ถ้ามันปรากฎตัวตอนสัปดาห์ที่ 3 ของ ธ.ค. คิดว่าแต่ละประเทศกลับตัวไม่ทัน ไม่อยากนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลังจากที่พบเมื่อวันที่ 24 พ.ย. องค์การอนามัยโลก และหลายประเทศมองว่า มันจะมาซ้ำเติมช่วงพิเรียดที่มีความเสี่ยงเยอะ จึงรีบออกมาเตือนเนิ่น ๆ โดยอาศัยข้อมูลด้านวิชาการเรื่องการกลายพันธุ์ว่า จุดกลายพันธุ์มีแนวโน้มทำให้ระบาดมากขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อนักวิจัยหลายประเทศวิเคราะห์จุดกลายพันธุ์ของมันจะก่อเรื่องใดบ้าง จะกระทบใน 3 เรื่องที่น่ากังวลอย่างไร คือ 1.การแพร่เร็วขึ้น 2.รุนแรงขึ้น และ 3.วัคซีนเอาอยู่หรือไม่ ล่าสุด ข้อมูลมีระดับหนึ่งที่นักวิจัยออกมารายงานผลการศึกษาเฉพาะในห้องวิจัยเกี่ยวกับโอไมครอน ซึ่งยังไม่ใช่ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในโลก พบว่า แม้ว่าจุดกลายพันธุ์กว่า 32 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนหนามไวรัส ที่อาจทำให้แพร่กระจายมากขึ้นจริง หลายประเทสในยุโรปกำลังวิเคราะห์ว่า ขณะนี้ที่ระบาดเพิ่มขึ้นมากจะเกิดขึ้นจากโอไมครอนมากน้อยอย่างไร แต่กว่า 98% ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้าอยู่ รวมถึงข้อมูลยังระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน ที่รายงานทั่วโลกพบว่ามีผู้อาการรุนแรง ต้องเข้าไอซียูเพียง 1 รายในแอฟริกา และยังไม่มีการพิสูจน์ผู้เสียชีวิตจากโอไมครอน

 

“จากการศึกษาจุดกลายพันธุ์ในโอไมครอน พบสิ่งที่น่าจะเป็นข่าวดีระดับหนึ่ง คือ จุดที่มีโอกาสกระตุ้น T Cell ยังคงอยู่กว่า 80% หมายความว่าระบบภูมิคุ้มกันที่จะลดความรุนแรงของโรค น่าจะยังคงอยู่ในระดับหนึ่ง นั่นคือ สำหรับผู้ฉีดวัคซีนมาก่อนครบแล้ว ก็น่าจะยังลดความรุนแรง เสียชีวิตจากโอไมครอนได้ แต่เรื่องการติดเชื้อ อาจมีประสิทธิภาพลดลง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ดังนั้น ในโลกความจริงยังไม่มีหลักฐานว่าโอไมครอนจะก่อให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้ หากมีการเตือนจากนักวิจัย หรือแพทย์ในต่างประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก ต่างเตือนว่าให้เฝ้าติดตาม อย่าชะล่าใจ เนื่องจากความเป็นห่วงในช่วงเดือน ธ.ค. ทำให้หลายประเทศออกมาจำกัดกันหมด เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล และญี่ปุ่น ประกาศห้ามเดินทางเข้าประเทศ ประเทศอื่นๆ ก็ยกระดับมาตรการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ

 

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หลายประเทศพูดถึงการกระตุ้นเข็ม 3 เพราะมีรายงานออกมาว่าทำให้ภูมิฯ เพิ่มขึ้นชัดเจน รวมถึงเมื่อเทียบโอไมครอนโดยตรง มีภูมิฯ มากกว่าการฉีดแค่ 2 เข็ม ซึ่งหลายประเทศฉีดเข็ม 3 เน้นในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงมีคำแนะนำให้ฉีดเข็ม 3 ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นมา แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค แต่ไทยเราล้ำหน้ากว่าเขา เพราะเรามีวัคซีนจำนวนมาก และเราก็ฉีดกันกว้างขวางมาก

 

เมื่อถามว่าทั่วโลกปรับมาตรการในช่วงนี้ สำหรับไทยเองมีมาตรการที่เหมาะสม เพียงพอแล้วหรือไม่ รวมถึงบางคนเสนอว่า ไม่ควรเปิดประเทศในช่วงเวลานี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ณ วันนี้เราเจอโอไมครอนมา 2-3 สัปดาห์แล้ว ข้อมูลในโลกยังไม่พบหลักฐานว่าก่อให้เกิดความรุนแรง ก็ต้องกลับมาดูมาตรการของไทย หากเข้มงวดจริง มีการดำเนิน 100% มีการกำกับเต็มที่ แต่ยังเอาไม่อยู่ นั่นแสดงว่ามาตรการไม่พอ ต้องปรับให้มากขึ้น แต่ขณะนี้ ตนมองว่ามาตรการที่ประกาศออกมาค่อนข้างดี แต่ยังพบว่ามีเรื่องหลุดรั่ว เช่น ผู้ประกอบการไม่ทำตามมาตรการ หลายแหล่งมีผู้ให้บริการที่ไม่ฉีดวัคซีน

 

“หากเราเข้มมาตรการ เราถึงจะบอกได้ว่ามาตรการพอหรือต้องเพิ่ม แต่ถ้าตราบใด เรายังไม่เข้มงวดแต่ประเมินว่ามาตรการไม่พอ ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่ ไม่งั้นเราจะมีมาตรการบางอย่างที่ออกมาเกินความจำเป็น หรืออาจมีบางมาตรการช้ากว่าความจำเป็น ดังนั้น ตอนนี้ต้องเร่งประเมินมาตรการทันที ทำให้เข้มงวดทันที เพื่อประเมินสถานการณ์จริง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า ในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ เราเผลอไม่ได้ เพราะโอไมครอนไปกว่า 57 ประเทศเป็นอย่างน้อย ซึ่งข้อมูลคนเข้าไทยแต่ละวัน ก็มาจากประเทศที่พบแล้วทั้งนั้น ฉะนั้น ต้องคิดไว้ก่อนว่าคนเหล่านี้มีโอกาสนำเชื้อเข้ามา เราต้องกักตัว ตรวจ RT-PCR ถอดเชื้อหาสายพันธุ์ ควบคู่กับการกระชับชายแดนให้ดี เพราะ อย่างปีที่แล้วใกล้ปีใหม่ มีงานเยอะ ก็มีแรงงานเข้ามาเยอะ ปีนี้เราประกาศเปิดประเทศ ก็คาดเดาได้ว่าจะมีคนเข้ามา แต่ต้องมีมาตรการติดตามดูแลเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่หรือติดเชื้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง