รีเซต

ดัน Soft Power ไทยผ่าน Extended Reality เทคเสมือนจริง | TNN Tech Reports

ดัน Soft Power ไทยผ่าน Extended Reality เทคเสมือนจริง | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
28 กรกฎาคม 2566 ( 16:17 )
71
ดัน Soft Power ไทยผ่าน Extended Reality เทคเสมือนจริง | TNN Tech Reports



การเกิดขึ้นของโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse รวมถึงอินเตอร์เน็ตยุคใหม่อย่าง Web3 ทำให้เราคุ้นหูกับคำว่า AR, VR และ MR มากขึ้น ซึ่งการผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะให้นิยามใหม่ว่า “Extended Reality” หรือ XR ที่แปลว่า เทคโนโลยีความจริงขยาย 


AR, VR, และ MR คืออะไร ?


AR หรือ Augmented Reality เป็นผสานโลกจริงและโลกเสมือนไว้ด้วยกัน โดยจะเป็นการสร้างวัตถุจำลอง 3 มิติ ขึ้นมาบนสภาพแวดล้อมจริงบนโลก ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แว่นตา หรือสมาร์ตโฟน ถึงจะเห็นภาพกราฟิก 3 มิติแสดงผลขึ้นมาตรงหน้า ยกตัวอย่างเช่น เกมโปเกมอน โก ที่ดังไปทั่วโลก




VR หรือ Virtual Reality คือ เทคโนโลยีเสมือนจริงที่ใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมา โดยเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนนั้นได้ ด้วยการกดตอบโต้ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเราคุ้นเคยเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างดีผ่านเกมต่าง ๆ รวมถึงการใช้ VRในการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกฝนและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานขององค์กร ก่อนปฏิบัติงานจริง ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงิน เวลา ทรัพยากร และลดความเสี่ยงจากอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  


MR หรือ Mixed Reality คือ การผสานจุดเด่นของ VR และ AR เข้าด้วยกัน / ด้วยการสร้างภาพจำลองในสภาพแวดล้อม ที่ผสานทั้งโลกจริงและโลกเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การแสดงผลของภาพโฮโลแกรม ที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ได้ ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็น MR ถูกนำไปใช้สร้างสรรค์มนุษย์เสมือนจริงหรือ Virtual Human ไปจนถึงอวตาร ซึ่งเหมาะกับวงการภาพยนตร์และการผลิตโฆษณา 




เทคโนโลยี XR ในประเทศไทย 


ในประเทศไทยเอง มีหลายธุรกิจที่กระโดดเข้ามาสู่โลกเทคโนโลยีเสมือนในรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึง XR เพื่อช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าใหม่และเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หนึ่งในนั้นคือ เดย์เดฟ ผู้ผลิตและให้บริการแอนิเมชันและเทคนิคพิเศษ ได้สอดแทรกวัฒนธรรมไทยผ่านเกมต่าง ๆ ถือเป็น Soft Power ที่ทำให้ต่างชาติเรียนรู้และเข้าใจความเป็นไทยมากขึ้น 



นอกจากผลักดัน Soft Power ไทยผ่านเกมต่าง ๆ แล้ว ทางเดย์เดฟยังได้ผลิตงานให้กับองค์กรรัฐและเอกชนอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ 2 โครงการที่ร่วมมือกับกรมศิลปากร ได้แก่


  • AR Smart Heritage - การเอาภาพสันนิษฐานของอุทยานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ในประเทศไทย มาขึ้นแบบภาพ 3 มิติ เมื่อนักท่องเที่ยวใช้สมาร์ตโฟนส่องสถานที่จริง ก็จะปรากฏเป็นภาพอุทยานประวัติศาสตร์ก่อนได้รับความเสียหายขึ้นมาในหน้าจอ

  • VR Unseen Heritage - จะเล่นผ่านแว่นตา VR เชื่อมต่อกับเว็บไซต์หรือคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งจะปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องไปสถานที่จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในไทย  ที่เดินหน้าไปพร้อมกับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง


นอกจากความท้าทายที่ผู้พัฒนาต้องเผชิญแล้ว ในฝั่งผู้ใช้งานก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงทั้งในแง่อุปกรณ์และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ยังไม่มากพอในคนทั่วไป แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ข้อจำกัดเหล่านี้ก็จะลดลงเรื่อย ๆ



เทรนด์ธุรกิจ XR ของไทยและเทศ


แนวโน้มการใช้งาน XR ทั่วโลก ปัจจุบันกำลังเติบโตอย่างมาก โดยมูลค่าของตลาด XR โดยงานวิจัยของกลุ่ม IMARC ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยทางการตลาดระดับโลกระบุว่า ในปี 2565 ตลาด XR ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 64,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.24 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเติบโตในช่วงปี 2566 - 2571 พุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 43.5


ที่สำคัญ การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมายิ่งทำให้คนหันสนใจในการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น สำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้บริหารในยุคนี้มองว่า XR มีส่วนสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์ของพนักงานออฟฟิศให้เข้าใกล้กันมากขึ้น ส่วนทิศทางของ XR ในประเทศไทยอยู่ระหว่างเริ่มเติบโตมีคู่แข่งน้อยสอดคล้องกับตลาดของผู้ใช้งานที่อาจจะยังไม่มากเมื่อเทียบกับทั่วโลก 




สำหรับใครที่ต้องการชิ้นงานหรือบุคลากรที่สามารถผลิต XR ได้ อาจมีคำถามเรื่องราคา ซึ่งราคาจะสูงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสมจริงของชิ้นงาน รวมถึงความละเอียดของแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ค่าถ่ายภาพและขึ้นโมเดล 3 มิติ, การพัฒนาโมเดล และการทำคอนเทนต์ โดยเฉลี่ยค่าจ้างผลิต AR เริ่มต้นที่หลักหมื่นและ VR เริ่มต้นที่หลักแสน โดยสิ่งที่ทำให้ราคาแตกต่างกันมากที่สุด คือ การใส่ลูกเล่นและการทำคอนเทนท์แบบ storytelling หรือการเล่าเรื่องแบบดึงประสบการณ์ของผู้เขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง