รู้ไว้! ดวงตาเสี่ยง 'ตาบอด' ได้ถ้าไม่รู้จักระวัง
ดวงตา เสี่ยง 'ตาบอด' ได้ถ้าไม่รู้จักระวัง! อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลย เพราะดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายไม่แพ้อวัยวะอื่น ๆ และสาเหตุตาบอดนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากอุบัติเหตุ โรคภัยต่าง ๆ ไปจนถึงเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างกรณี "ไฮโซลูกนัท" ถูกยิงเข้าที่เบ้าตาส่งผลให้ตาบอดในที่สุด วันนี้ TrueID รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตาบอด โรคตาบอด อาการ ไปจนถึงโรคต่าง ๆ ที่อาจเสี่ยงตาบอดได้ ถ้าไม่รู้จักระวังหรือไม่รู้จักป้องกันแต่เนิ่น ๆ อาจตาบอดได้ รวมทั้งทุกคน ทุกวัย ทุกเพศ ล้วนอาจเป็นไปได้ที่จะเสี่ยงตาบอดได้
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "คนตาบอด"
ข้อมูลจากเว็บไซต์ พบแพทย์ อธิบายเกี่ยวกับตาบอด (Blindness/Vision Impairment) ว่า เป็นภาวะที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ หรือรับรู้ความแตกต่างระหว่างแสงสว่างและความมืดได้ จึงถือเป็นความพิการทางตา หรือความบกพร่องทางการมองเห็นในระดับที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเช่นคนปกติได้ และอาการตาบอดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเริ่มด้วยขั้นตอนการรักษาตั้งแต่
- การรับประทานยา
- การผ่าตัด
- การสวมแว่นตาหรือการใส่คอนแทคเลนส์
- หากผู้ป่วยเริ่มสูญเสียการมองเห็น ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา
- หากการมองเห็นเสียหายจนรักษาไม่ได้ ผู้ป่วยอาจต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ เช่น อักษรเบรลล์ หรือโปรแกรมเสียงสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ เป็นต้น
อาการตาบอด มีกี่ประเภท?
อาการตาบอดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ตาบอดสนิท (Complete Blindness) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เลย หรือเห็นเป็นภาพมืดทั้งหมด และตาบอดบางส่วน (Partial Blindess) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการมองเห็นที่จำกัด อาจมองเห็นเพียงเงาลาง ๆ และไม่สามารถมองเห็นรูปร่างของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นผู้ที่ตาบอดบางส่วนอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและต้องหมั่นสังเกตหากรู้สึกว่า เริ่มสูญเสียการมองเห็น ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการตาบอด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดตาบอดแตกต่างกันในผู้ใหญ่และเด็ก
สาเหตุตาบอดในผู้ใหญ่ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
1. สายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข (Uncorrected Refractive Error) เช่น สายตาสั้น สายตายาว ซึ่งหากละเลยอาจทำให้เกิดโรคตาอื่น ๆ ตามมา ยกตัวอย่าง คนที่มีสายตาสั้นมาก ๆ ทำให้จอประสาทตาเสื่อม จอตาฉีกขาดและหลุดออก เสี่ยงทำให้ตาบอดได้
2. ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของแก้วตาตามอายุทำให้ตาดำมีลักษณะขุ่นขาว มักพบในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปโรคต้อกระจกสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด แต่บางคนละเลยปล่อยไม่ยอมผ่าตัด อาจเพราะเกิดความกลัวในขั้นตอนการรักษา เมื่อปล่อยไว้นานจึงทำให้ต้อกระจกเป็นสาเหตุที่สำคัญของตาบอด
3. โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงจนไปกดและทำลายประสาทตาทำให้ตามัวลงจนถึงขั้นตาบอดได้ ผู้ที่เป็นต้อหินอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการเฉียบพลัน เช่น ปวดตา ตาแดงหรือตามัวทันที หรืออาจมีอาการเรื้อรังคือมีอาการตามัวลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการตาแดงนำมาก่อน ซึ่งโรคนี้ต้องอาศัยการตรวจโดยจักษุแพทย์ จึงต้องหมั่นตรวจหาต้อหินแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการรักษาทันทีและต่อเนื่องจะช่วยป้องกันตาบอดได้
ยกตัวอย่างกรณีเคสคุณพ่อของผู้เขียนเองที่มีอาการเริ่มแรกคือ มีอาการปวดเบ้าตาอย่างมาก ตาแดงเหมือนคล้ายเป็นโรคตาแดง และได้รับการตรวจเบื้องต้นจากแพทย์ทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้องคือ เมื่อมีอาการปวดเบ้าตามาก หรือรู้สึกตาพร่า ตาแดงหรือไม่แดงก็ได้ ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคต้อหิน ดังนั้น ต้องรีบพอจักษุแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักาาได้อย่างถูกต้อง โดยเคสดังกล่าวเข้าถึงการรักษาที่ผิดวิธีทำให้สูญเสียดวงตา แต่ไม่บอดสนิท
4. จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน (diabetic retinopathy) เป็นโรคที่ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นเบาหวานมานานจะทำให้มีหลอดเลือดผิดปกติทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดที่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้มีน้ำเหลืองซึมออกมาทั่วจอประสาทตา และหลอดเลือดที่จอประสาทตาจะเสื่อมมากขึ้นจนเกิดพังผืดและมีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ผิวจอประสาทตาซึ่งจะทำลายจอประสาทตามากขึ้น รวมถึงหลอดเลือดที่เกิดใหม่อาจจะฉีกขาดทำให้มีเลือดออกขังในน้ำวุ้นตา
หากเป็นในระยะแรกเริ่มสามารถรักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์ แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตาบอดได้
5. แผลบริเวณกระจกตา (Corneal Ulcer) กระจกตาเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็น จึงต้องใส หากมีการอักเสบหรือเป็นแผล จะทำให้แสงผ่านไม่ได้และเกิดตามัวตามมา สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลบริเวณกระจกตา ได้แก่
- โรคริดสีดวงตา
- ภาวะตาแห้ง
- ภาวะขาดวิตามินเอ
- ภาวะแทรกซ้อนจากคอนแทคเลนส์
- อุบัติเหตุทางกีฬา
- การขยี้ตาแรง ๆ
- ฝุ่นเข้าตาหรือเกิดจากเศษใบไม้หรือหญ้าบาดตา
ล้วนอาจทำให้เกิดรอยบริเวณกระจกตา (Corneal Abrasion) และหากไม่ได้รับการักษาอาจทำให้เกิดแผลบริเวณกระจกตาตามมาและทำให้มีเชื้อโรคผ่านกระจกตาเข้าสู่ดวงตาอันเป็นสาเหตุของตาบอดได้เช่นกัน
6. อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา เช่น การเล่นกีฬา ถูกของมีคมทิ่มตำ การกระแทกที่ดวงตา อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องหน้าตา (Hyphema) จะทำให้มีอาการเจ็บปวด ไวต่อแสง และสูญเสียการมองเห็น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องสามารถทำให้ตาบอดได้
หรือกรณีตัวอย่างของไฮโซลูกนัทที่โดนยิงเข้าที่เบ้าตา เป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ส่งผลให้ตาบอดในที่สุด
7. การติดเชื้อ โดยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Keratitis) เช่น เกิดตามหลังอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์
8. ภาวะหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน (Retinal Vein Occlusion)
9. ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา
10. ความผิดปกติโดยกำเนิด เช่น โรคตาทางพันธุกรรม หรือโรคหัดเยอรมัน (Rubella)
11. โรคเกี่ยวกับดวงตาอื่น ๆ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinitis Pigmentosa) โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis)
สาเหตุตาบอดในเด็ก เกิดจากอะไรได้บ้าง?
และไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่า สาเหตุตาบอดไมไ่ด้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็ก ๆ ย่อมเสี่ยงตาบอดได้เช่นเดียวกัน ดังนี้
1. จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity) โดยภาวะนี้มักพบในเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์
2. ต้อกระจกชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นในแม่ที่เป็นหัดเยอรมัน (Rubella)
3. ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) เกิดจากการมีตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) หรือความผิดปกติของสายตานำมาก่อน ทำให้เด็กมีสายตาไม่เท่ากัน และตาข้างที่ไม่ดีจึงไม่ถูกใช้งาน หากไม่ได้รับการรักษาตาข้างที่ไม่ใช้งานอาจจะมัวลงและตาบอดได้
4. ภาวะขาดวิตามินเอ ซึ่งจะทำให้ตาแห้งหากเป็นนานเข้าจะทำให้เกิดกระจกตาแห้งและเกิดแผลที่กระจกตารวมถึงทำให้ติดเชื้อในดวงตาตามมาทำให้ตาทะลุและเกิดตาบอดตามมาอีกด้วย
5. เยื่อตาและกระจกตาอักเสบจากเชื้อหนองใน (Gonococcal Conjuctivitis) โดยเป็นการติดเชื้อจากช่องคลอดมารดาที่เป็นหนองในขณะทำการคลอด ทำให้เด็กทารกมีขี้ตาแฉะเป็นหนอง เปลือกตาติดกัน และเชื้อจะลุกลามเข้าสู่ตาดำทำให้ตาบอดได้
6. โรคทางพันธุกรรมที่เป็นแต่กำเนิดอื่น ๆ เช่น โรคต้อหินแต่กำเนิด โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinal Dystrophy) ประสาทฝ่อ (Optic Atrophy) ดวงตาเล็กแต่กำเนิด เป็นต้น
7. เนื้องอก เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) และ Optic Glioma เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า สาเหตุตาบอดเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ สิ่งสำคัญคือ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา เพื่อจะได้ป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ หากดวงตาเริ่มมีปัญหา และควรเลือกตัวช่วย อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการป้องกันดวงตา เช่น ใส่แว่นกันแดดป้องกันแสงแดด หรือแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์โฟน ที่อาจทำให้สุขภาพดวงตาแย่ลงทีละนิดได้ เมื่อสะสมมากขึ้นย่อมอาจเป็นไปได้ที่จะเสี่ยงให้ดวงตาของเราเสื่อมลง ถดถอยลง และหากไม่ดูแล หรือหาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเสี่ยง "ตาบอด" ได้
เพราะดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ
สูญเสียไปไม่คุ้มเลยนะ
ข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพ