ชาติตะวันตกปัดข้อเสนอรัสเซีย ไม่ขวางยูเครนเข้าร่วม NATO
ทั้งสองวงประชุมทั้ง NATO และผู้นำยุโรปต่างก็มีสมาชิกส่วนใหญ่ร่วมกัน ชาติตะวันตกปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการขัดขวางยูเครนไม่ให้เข้าเป็นสมาชิก NATO และเรียกร้องให้รัสเซียกลับไปสู่การเจรจา ‘นอร์มังดี ฟอร์แมต’ ที่นำโดยฝรั่งเศสและเยอรมนี เพื่อหาทางออกเหนือวิกฤตยูเครน พร้อมกับขู่ว่า ชาติยุโรปจะร่วมมือกันออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ หากรัสเซียรุกรานยูเครน
---ชาติตะวันตกปฏิเสธข้อเรียกร้องรัสเซีย---
การประชุมออนไลน์ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ถึงวิกฤตยูเครน ล่าสุด รัสเซียได้ส่งข้อเสนออย่างเป็นทางการไปยังสหรัฐฯ แล้ว โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ และ NATO รับประกันว่าพันธมิตรทางทหารของตะวันตก จะไม่ขยายไปทางตะวันออกเพิ่มเติม หรือใช้ระบบอาวุธบางอย่างในยูเครนและประเทศอื่น ๆ ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้ยื่นข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงให้แก่ คาเรน ดอนฟรีด ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และดอนฟรีดได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เพื่อหารือกับพลเอกเยน สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้
ปรากฏว่าพันธมิตรตะวันตกปฏิเสธ ข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการขัดขวางยูเครน ไม่ให้เป็นสมาชิก NATO และเรียกร้องให้รัสเซียยุติการเสริมกำลังทางทหารตามแนวชายแดนของยูเครน และกลับไปสู่การเจรจาที่นำโดยฝรั่งเศสและเยอรมนี และระบุว่าการเจรจาใดๆ จะต้องดำเนินการร่วมกับพันธมิตรยุโรปของ NATO
---รัสเซียคือผู้รุกราน?---
สมาชิก NATO ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัสเซียว่า ยูเครนและ NATO เป็นฝ่ายยั่วยุ พร้อมกับเรียกร้องให้รัสเซีย ลดระดับความรุนแรงในทันที ดำเนินวิธีทางการทูต และปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ขณะที่เลขาธิการ NATO เรียกรัสเซียว่าเป็นผู้รุกราน
ส่วนที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ยืนยันว่า รัสเซียจำเป็นต้องลดความตึงเครียดที่เกิดจากการสร้างกองทัพตามแนวชายแดนกับยูเครน และวาทศิลป์เชิงรุกอย่างเร่งด่วน ทั้งสององค์กรที่มีประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ร่วมกัน ย้ำถึงผลเสียร้ายแรงที่รัสเซียจะได้รับ หากถูกมหาอำนาจยุโรปและสหรัฐฯร่วมกันคว่ำบาตร
เมื่อวันพฤหัสบดี (16 ธันวาคม) ผู้นำสหภาพยุโรปตกลงที่จะต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีต่อรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อตอบโต้การผนวกไครเมียซึ่งเคยอยู่ใต้การปกครองยูเครนเข้ากับรัสเซีย
--- EU ยังไม่ตกลงคว่ำบาตรรัสเซีย---
ในการประชุมระหว่างผู้นำยูเครนกับผู้นำ EU แม้เกือบทั้งหมดสนับสนุนยูเครนต่อความขัดแย้งดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ตกลงตามข้อเรียกร้องขอยูเครนที่ต้องการให้คว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อปรามไม่ให้รัสเซียเพิ่มปฏิบัติการเชิงรุกมากกว่านี้ โดยที่ประชุมเลือกที่จะขู่ว่าจะตอบโต้ในกรณีที่รัสเซียรุกรานก่อนเท่านั้น
ถ้อยแถลงของสหรัฐฯ ระบุว่า ดอนฟรีดเน้นว่า "เราสามารถก้าวหน้าทางการฑูตในการยุติความขัดแย้งในดอนบาสผ่านการดำเนินการตามข้อตกลงมินสค์”
‘นอร์มังดี ฟอร์แมต’ เส้นทางการทูตที่ตั้งขึ้นในการประชุมสุดยอดในกรุงมินสค์ ของเบลารุส ในปี 2015 ที่ปูตินยอมรับว่าฝรั่งเศสและเยอรมนีควรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย และสหรัฐฯ สนับสนุนการกลับสู่รูปแบบนี้ และอยู่ระหว่างการเจรจากับรัสเซียแต่ยังไม่มีการตกลงใด
---คว่ำบาตรอาจเป็นการยั่วยุมากกว่าขัดขวาง---
ขณะที่ยูเครนและพันธมิตรใกล้ชิดในตะวันตก ต้องการยกเลิกการเปิดโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่ลำเลียงก๊าซจากรัสเซียไปยังเยอรมนีโดยไม่ผ่านยูเครน
โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีดูจะระมัดระวังในเรื่องนี้ โชลซ์ระบุว่า โครงการนี้เป็นของภาคเอกชนและกระบวนการอนุมัติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และอยู่ภายใต้กฎหมายพลังงานของสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปจะทำให้แน่ใจว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะไม่ละเมิดบูรณภาพของยูเครน
ผู้นำบางชาติในที่ประชุม เกรงว่าการคว่ำบาตรล่วงหน้าจะเป็นการยั่วยุ มากกว่าที่จะขัดขวางรัสเซีย
ผู้นำยูเครนระบุว่า รัสเซียเป็นผู้ผลักยูเครนเข้าสู่ NATO นับแต่เริ่มสงครามตั้งแต่ปี 2014 และสมาชิกสหภาพยุโรปบางคนดูเหมือนจะไม่เข้าใจขอบเขตของอันตรายของยูเครนและกระตุ้นให้พวกเขาดำเนินการอย่างรวดเร็ว
ทหารยูเครนที่ต่อสู้กับกลุ่มกบฏที่สนับสนุนรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกของประเทศกล่าวว่ามีเพียงการเข้าเป็นสมาชิกของ NATO เท่านั้นที่สามารถปกป้องยูเครนจากรัสเซียได้ ไม่ใช่การคว่ำบาตรใด ๆ
—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters