รีเซต

ปราบหมูเถื่อน...รัฐต้องเข้ม...ปกป้องผู้บริโภคเสี่ยงได้สารเร่งเนื้อแดง

ปราบหมูเถื่อน...รัฐต้องเข้ม...ปกป้องผู้บริโภคเสี่ยงได้สารเร่งเนื้อแดง
TNN ช่อง16
6 กันยายน 2565 ( 18:05 )
100

ในช่วงที่ภาคการผลิตหมูของประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความพยายามที่จะฟื้นฟูการผลิต  หลังจากได้รับความเสียหายจากการระบาดของ ASF ไปกว่า 50 %  โดยกลุ่มผู้เลี้ยงรายกลางและรายเล็กหลายรายยังไม่กล้าจะกลับมาเลี้ยงใหม่    แต่ปรากฎว่าราคาเนื้อหมูชำแหละในท้องตลาดทั่วประเทศมีราคาลดลงอย่างมากเหลือกิโลกรัมละ 135 – 145 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้เลี้ยงหมูพากันหาสาเหตุและพบว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้าหมูชำแหละและเครื่องในจากต่างประเทศ มาจำหน่ายอย่างเปิดเผยทั้งขายปะปนบนเขียงหมูในตลาดสดและการขายผ่านออนไลน์  


ด้วยข้อจำกัดด้านการปริมาณเนื้อหมูที่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค  กลายเป็นช่องทางของการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถูกสำแดงเท็จเป็นปลา อาหารทะเล หรืออาหารสัตว์ มาจากประเทศทางยุโรป อาทิ เยอรมนี สเปน เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจ ASF ที่มีการระบาดอยู่มากในยุโรป  และยังหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์  เมื่อนำเข้ามาแล้วก็เร่งกระจายส่งตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ  บรรดาหมูเถื่อนที่ถูกจับได้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการบรรจุกล่องสินค้าจากต่างประเทศชัดเจน เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ทั้งในพื้นที่นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ  รวมถึงห้องเย็นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แม้ว่ากรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร จะออกข่าวกวาดจับหมูเถื่อนของภาครัฐเป็นระยะในช่วงที่ผ่านมา  แต่ก็เป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย  โดยผลการตรวจสอบช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจำนวน 8 คดี  จากการจับกุมและยึดซากหมูรวม 108,734 กิโลกรัม มูลค่า 20.5 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงหมูเถื่อนที่เล็ดลอดเข้าไปประเทศเป็นไปได้สูงว่าจะมีมากกว่าที่จับกุมได้ 


“หมูเถื่อน” หรือที่ผู้เลี้ยงเรียกกันว่า “หมูกล่อง”  เป็นตัวการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยทั้งระบบ ที่สร้างความความกังวลเรื่องพาหะนำ ASF เข้าประเทศใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ยังทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงได้รับสารตกค้างอันตรายจากหมูเถื่อนดังกล่าว โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง  ซึ่งเป็นภัยร้ายแฝงที่มองไม่เห็น  เนื่องจากในต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรปยังคงใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือสารเคมีในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งมีฤทธิ์ส่งเสริมการเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ  ทำให้มีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มข้น และลดปริมาณไขมันลง  โดยประเทศไทยได้ห้ามการใช้สารในกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด

สำหรับผู้บริโภคหากบริโภคเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง  จะมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ  ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ  หลอดเลือด หลอดลม  อาจมีอาการมือสั่น  กล้ามเนื้อกระตุก  วิงเวียนศีรษะ  กระวนกระวายและคลื่นไส้  เป็นอันตรายอย่างมากสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ  ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์  รวมถึงหญิงมีครรภ์  


ในส่วนของประเทศไทยถือว่าสารนี้เป็นสารต้องห้าม โดยประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด  และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐาน โดยต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย  โดยมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล

ด้วยพิษภัยจากหมูเถื่อน กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อผู้เลี้ยง และผู้บริโภค ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้  สมาคมผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศนำโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงร่วมกันออกแรงกระทุ้งให้รัฐบาลปราบปรามอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพื่อปกป้องทั้งผู้บริโภคและอุตสาหกรรมหมูไทย


สำหรับปัญหาเนื้อหมูต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทยมาวางขายทางภาคเหนือจำนวนมากนั้น  นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ บอกว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัวต่อวัน และมีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วประมาณ 70-100 ตันต่อวัน ตั้งแต่กรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า "ซากสุกร" ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 160-170 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลง 30% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว  และแม้ว่าจะมีการกลับเข้าเลี้ยงหมูขุนเพิ่มข้น โดยผลผลิตยังมีไม่มาก คาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้  แต่กลับพบว่ามีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ และมีราคาที่ต่ำมาก

ด้วยผลกระทบโดยตรงจากราคาต่ำของหมูเถื่อน ขณะที่หมูไทยมีต้นทุนสูงจากการเลี้ยงแบบบูรณาการเพื่อป้องกันโรคคุณภาพสูงกว่า ทั้งยังปลอดโรค และปลอดสารเร่งเนื้อแดง   


ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเฉพาะของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมใจสอดส่องเพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย เพื่อให้ภาครัฐเร่งดำเนินการกวาดล้างขบวนการหมูเถื่อนให้สิ้นซาก  ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมพี่น้องคนไทยกันเองให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากในอาชีพได้อย่างมั่นคง ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยในอาหาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง