รีเซต

"คลัง" เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย" Zero Tolerance "

"คลัง" เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย" Zero Tolerance "
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2568 ( 13:41 )
8

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันราย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จังหวัดระยอง เยี่ยมชมกระบวนการส่งออกน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (น้ำมันเขียว) และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจสอบเส้นทางการขนส่ง ติดตามพฤติกรรมเรือผ่านระบบ RTS และ AIS พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึง เน้นย้ำให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันการลักลอบนำน้ำมันเขียวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ 

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันนโยบาย “Zero Tolerance : สินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตต้องเป็นศูนย์” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการควบคุมและกำกับดูแลน้ำมันเขียวอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบใช้น้ำมันดีเซลที่ได้รับสิทธิภาษีในอัตราศูนย์กลับมาใช้ในประเทศ โดยเฉพาะการนำกลับเข้ามาจำหน่ายในเขตทะเลอาณาเขตและบนฝั่งไทย โดยโครงการ”น้ำมันเขียว” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงให้แก่ชาวประมงที่ปฏิบัติงานในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (12–24 ไมล์ทะเล) โดยน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายจะมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนฝั่งเนื่องจากไม่มีภาระภาษี ซึ่งจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงของไทยได้เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากน้ำมันดังกล่าวมีราคาต่ำ จึงทำให้เกิดการลักลอบนำกลับเข้ามาจำหน่ายหลายรูปแบบ ได้แก่ การลักลอบนำน้ำมันเขียวจากในทะเลกลับเข้ามาจำหน่ายในทะเลอาณาเขตหรือบนฝั่งภายในประเทศ การที่เรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน (เรือแทงเกอร์) จำหน่ายน้ำมันเขียวให้กับเรือประมงที่ไม่มีสิทธิ เช่น เรือประมงต่างชาติ หรือเรือประเภทอื่น เป็นต้น และการนำเรือแทงเกอร์เข้ามาจำหน่ายน้ำมันในทะเลอาณาเขต ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และกระทบต่อความโปร่งใสของมาตรการสนับสนุนภาคการประมงของภาครัฐ

ดร. เผ่าภูมิฯ กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมสรรพสามิตได้ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดและครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของการจัดจำหน่าย โดยเน้น “ขันน็อต” ทั้งระบบ ได้แก่

1. ควบคุมด้วยทะเบียนและเงื่อนไข : เรือทุกประเภทที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการน้ำมันเขียว ได้แก่ เรือบรรทุกน้ำมัน เรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน เรือบรรทุกน้ำมันต่อเนื่อง และเรือประมง ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด


2. ตรวจสอบการจำหน่ายทุกขั้นตอน : นำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเขียวอย่างครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางโรงกลั่นจนถึงเรือประมง โดยมีระบบตรวจสอบข้อมูลการจำหน่ายน้ำมัน ระบุผู้รับ ปริมาณ วันที่ และเวลาอย่างชัดเจน พร้อมติดตั้งมาตรวัดปริมาณรับ-จ่ายบนเรือทุกประเภท เพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณการรับและการจำหน่ายน้ำมันเขียวในแต่ละช่วงการขนส่ง

3. ใช้เทคโนโลยีติดตาม Real Time Surveillance (RTS) : เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินเรือของเรือบรรทุกน้ำมันว่ามีเส้นทางการเดินเรืออย่างไร อยู่ในทะเลเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรหรือไม่ พร้อมระบบแจ้งเตือนหากมีพฤติการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น

4. ติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS) : สามารถติดตามพฤติกรรมและตำแหน่งของเรือประมงที่ได้รับสิทธิว่ามีพฤติกรรมหรือการเดินเรือที่ผิดปกติหรือไม่ 

5. บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ : มีการบูรณาการข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น กรมศุลกากร กองบังคับการตำรวจน้ำ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบอย่างเป็นระบบ  


ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลตามนโยบาย “Zero Tolerance : สินค้าหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตต้องเป็นศูนย์” กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการควบคุมและกำกับดูแลน้ำมันเขียวอย่างเข้มงวดในทุกมิติ พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้สามารถยกระดับประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2568) สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันได้รวมทั้งสิ้น 823 คดี รวมค่าปรับทั้งสิ้น 27,098,446.76 บาท โดยตรวจยึดของกลางเป็นน้ำมันดีเซล จำนวน 1,185,004 ลิตร น้ำมันเบนซิน 136,632.70 ลิตรโซลเว้นท์ 63,027 ลิตร น้ำมันเตา 114,000 ลิตร และน้ำมันประเภทอื่น ๆ อีก 1,360 ลิตร 

ดร. เผ่าภูมิฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างถูกต้อง มุ่งมั่นเดินหน้ายกระดับการควบคุม กำกับดูแล และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การใช้สิทธิ์เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรงวัตถุประสงค์ และป้องกันการลักลอบอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของมาตรการช่วยเหลือภาคประมง และความเป็นธรรมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะในโครงการน้ำมันเขียวซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการสนับสนุนภาคประมงของประเทศ สามารถช่วยสนับสนุนชาวประมงกว่า 7,000 ลำ ครอบคลุม 22 จังหวัดชายทะเล ในการลดต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงอันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง โดยในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยกว่า 240,061.62 ล้านบาท

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง